xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.เตือนเปิดเทอมยังเสี่ยงอีก 3 โรค “มือเท้าปาก-ไข้หวัดใหญ่-ปอดอักเสบ” นร.ต้องสวมหน้ากากต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค.เตือนเปิดเทอม ต้องเฝ้าระวังอีก 3 โรค ทั้ง “มือเท้าปาก-ไข้หวัดใหญ่-ปอดอักเสบ” ชี้ แม้ใส่หน้ากากป้องกันโควิดจะช่วยการป่วยทั้ง 3 โรคลดลง แต่การเปิดเทอมยังมีความเสี่ยง ย้ำต้องให้เด็กนักเรียนสวมหน้ากากไปเรื่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยง ส่วนจะกลับมาเรียนเต็มห้อง ไม่ต้องสลับมาเรียนเมื่อไร ยังตอบไม่ได้ เหตุเป็นช่วงเริ่มต้น แต่เป็นโอกาสปรับสู่การเรียนการสอนวิถีใหม่

วันนี้ (3 ก.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงกรเฝ้าระวังโรคในช่วงเปิดเทอม หลังเปิดเรียนตามปกติแล้ววันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า ช่วงนี้เปิดเทอม เด็กโดยเฉพาะวัยเล็กชั้นอนุบาล ที่น่ากังวลใจ คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคที่รุนแรงถึงต้องปิดโรงเรียน คือ โรคมือเท้าปาก ที่จะมีตุ่มใสขึ้นที่ในปาก มือ และเท้า ทำให้เด็กร้องงอแงไม่อยากกลืน มีความทรมาน จากการติดตามพบว่า ปี 2563 ตั้งแต่สัปดาห์แรกจนถึงสัปดาห์ที่ 25 จำนวนผู้ป่วยเป็นเนินเขาเตี้ยๆ แสดงว่าเกิดการป่วยน้อยมาก คือ น้อยกว่า 500 รายลงไป ขณะที่ปี 2562 อัตราป่วยช่วงแรกเกือบพันราย และพุ่งทะยานขึ้นไปสูงสุดใช่วงกลางปีมากกว่า 4 พันราย การที่อัตราการเกิดโรคต่ำมากในปีนี้ อาจเกิดจากการเปิดเทอมช้า หรือยังไม่มีการแพร่ระบาด หรือมีการใส่หน้ากากตลอดเวลา เป็นเรื่องช่วยให้โรคนี้ลดน้อยลง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนี้ โรคไข้หวัดใหญ่ก็คล้ายกัน หากเป็นปี 2562 ในช่วง ม.ค.-มี.ค. อัตราป่วยสูงขึ้นเรื่อย แต่ปี 2563 ม.ค.ยังป่วยสูง แต่พอเริ่มใส่หน้ากาก อัตราป่วยก็น้อยลงเรื่อย โดยตั้งแต่ มี.ค.- มิ.ย. ติดเชื้อน้อยมาก เป็นประโยชน์ของการใส่หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่น่ากังวลใจนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 27 มิ.ย. กลุ่มก้อนใหญ่ คือ 0-4 ปี และ 5-14 ปี ที่ติดเชื้อสูง ตอนนี้ที่เพิ่งเปิดเทอม ต้องฝากพ่อแม่ดูแลบุตรหลาน หากไปโรงเรียนและไม่เคยชินการใส่หน้ากากก็ต้องฝึกสักระยะถึงเคยชิน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะที่โรคปอดอักเสบที่รุนแรงขึ้นมาอีก ปี 2562 การป่วยสูงลอยตลอดทั้งปี ส่วนปี 2563 เมื่อรณรงค์หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย แนวโน้มก็ลดลง คือ อานิสงส์ของการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ทำโรคอื่นๆ ลดน้อยถอยลงไปด้วย นี่คือ สิ่งที่เราร่วมแรงร่วมใจกัน ทำให้ลูกหลาน เด็กของเราติดเชื้อตรงนี้น้อยลงด้วย ขอให้ทำไปเรื่อยๆ ในช่วงเปิดเทอม ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงอยู่

ถามถึงกรณีโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ต้องแบ่งกันมาเรียน ครูต้องสอนสองรอบ เมื่อไรที่เด็กจะกลับมาเรียนครบทุกคนตามปกติ เพราะผู้ปกครองกังวลว่าจะเป็นการเพิ่มภาระครู นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขอบคุณทางโรงเรียนและครูที่ต้องเหนื่อยในช่วงนี้ ถามว่าเมื่อไรยังตอบไม่ได้ เพราะเพิ่งเริ่มต้นและต้องเฝ้าระวังก่อน ที่เราวางมาตรการไว้ก็เป็นไปตามมาตรการสากลที่เราจะนึกถึงการระบาดต่างๆ เป็นช่วงที่เด็กใกล้ชิดกัน อย่างที่บอกว่า ธรรมชาติเด็กเป็นอย่างนี้ แต่เราจะเห็นนวัตกรรมใส่หมวกแบบมีปีกป้องกันใกล้ชิดกัน เด็กก็จะรับทราบเรื่องการปรับตัวกิจการทางการเรียนการสอนแบบใหม่ ครูอาจจะเหนื่อยสักหน่อย แต่เชื่อว่า เทคโนโลยีการเรียนการสอนก้าวหน้าไปไกล เด็กหลายคนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือ ใช้ทีวีดูจากจานดาวเทียน ใช้การฝึก หรือพ่อแม่ช่วยเป็นครูพี่เลี้ยงที่บ้าน คือ การเปลี่ยนปลงสู่ชีวิตวิถีใหม่ อาจจะขลุกขลักนิดหน่อยในช่วงเริ่มต้น ก็ต้องปรับกันไป ในเด็กโตก็ยิ่งง่าย ดูในโซเชียลมีเดีย ยูทูป มีการสอนมากมาย หลายคนพยากรณ์ถึงเวลาที่ไวรัสนี้จะมาเปลี่ยนลก เปลี่ยนเรื่องการศึกษา วิถีการเรียนรู้แบบใหม่ ครู ผู้ปกครอง เด็ก จะได้ก้าวไปสู่ยุคชีวิตวิถีใหม่ และให้เด้กเราฉลาดขึ้นได้ทุกวิถีทาง ก็ต้องช่วยกัน










กำลังโหลดความคิดเห็น