xs
xsm
sm
md
lg

“หมอยง” แจง “ไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่” ติดต่อง่าย มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น แต่ยังไม่พบในคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา เปิดเผยถึง “ไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่” ยังไม่พบในประเทศไทย ทั้งนี้พบว่าไข้หวัดนี้ติดต่อกันได้ง่าย และมีความรุนแรงของโรคมากกว่าไข้หวัดหมูสายพันธุ์อื่น แต่ยังไม่พบในมนุษย์

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับ “ไข้หวัดใหญ่หมู” โดยได้ระบุข้อความว่า

“ไข้หวัดใหญ่หมู ไข้หวัดใหญ่ที่พบในหมู จะเป็นไข้หวัดใหญ่ เอ ไข้หวัดใหญ่ เอ ส่วนใหญ่พบในนก มีหลายสายพันธุ์ ไข้หวัดใหญ่ เอ พันธุกรรมจะเป็นชิ้นเป็นท่อนมี 8 ท่อน แต่ถ้ามีการติดเชื้อพร้อมกันหลายสายพันธุ์ จะมีการแลกเปลี่ยนชิ้นท่อนพันธุกรรมผสมกันใหม่

เมื่อมีการแลกเปลี่ยนจะเป็นลูกผสมของสายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์ลูกผสม จะทำให้การติดเชื้อ ง่าย ยาก รุนแรงมาก รุนแรงน้อยได้ โดยทั่วไปสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น H5N1 ที่พบในนก ข้ามมาคน โรครุนแรง แต่เมื่อติดต่อข้ามมายังคน การติดต่อระหว่างคนสู่คนได้ยาก จึงไม่แพร่ระบาดวงกว้าง สายพันธุ์ใหม่ ลูกผสม อาจเกิดลูกผสม 2 สายพันธุ์ เช่น หมู และนก และจะเป็นลูกผสม 3 ก็ได้ เช่น หมู นก คน (triple reassortant)

ไข้หวัดหมู พบได้อยู่แล้วในทุกประเทศ ที่มีการเลี้ยงหมู แต่ส่วนใหญ่จะไม่ข้ามสายพันธุ์มาในคน สายพันธุ์ G4 EA H1N1 ที่มีการผสมผสานระหว่างไข้หวัดหมู EA (Euration avian) ผสมกับไข้หวัดใหญ่ H1N1 2009 และ triple อีก 1 ชิ้น จากการศึกษาของทีมโรคอุบัติใหม่ สุขภาพหนึ่งเดียว ของคณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ ไม่พบสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย ไข้หวัดใหญ่หมู สายพันธุ์ G4 EA H1N1 ที่พบในจีน ศึกษาทดลองในเซลล์เพาะลี้ยง และในสัตว์ทดลอง พบว่ามีการติดต่อกันง่าย ในสัตว์ทดลอง (Ferret) และมีความรุนแรงของโรคมากกว่าไข้หวัดหมูสายพันธุ์อื่น และภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไม่สามารถต้านทานได้ คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิต้านทานต่อสายพันธุ์ดังกล่าว ยังไม่เคยพบสายพันธุ์นี้ในมนุษย์ การศึกษาวิจัยเป็นเพียงทำในสัตว์ทดลอง การเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ มีความสำคัญ และ ต้องถอดรหัสพันธุกรรมทั้ง 8 ชิ้น จึงจะรู้ว่าเป็นสายพันธุ์ไหน ไม่ใช่ดูเฉพาะ H1N1, H3N2 เท่านั้น แต่ต้องดูพันธุกรรมของทุกชิ้นจึงจะบอกได้”




กำลังโหลดความคิดเห็น