“หมอธีระวัฒน์” เผย “ไข้หวัดหมู G4” มีลักษณะเฉพาะตัว ควบรวม 3 สาย “นก-คน-หมู” เฝ้าระวังใกล้ชิด ย้ำสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ป้องกันได้ กรมควบคุมโรค แจงไม่ต้องตระหนกเกินไป จนไม่กินเนื้อหมู จับตาใกล้ชิดแล้ว รอข้อมูลชัดเจน ชี้ ปกติหลังระบาดใหญ่ โรคอื่นๆ มักไม่รุนแรง
วันนี้ (1 ก.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงกรณีจีนรายงานพบไข้หวัดหมู G4 EA H1N1 ว่า ข้อมูลเบื้องต้นจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ พบว่า โรคไข้หวัดหมู G4 มีลักษณะเฉพาะตัว ผสมควบรวมของทั้ง 3 สายจากที่พบ ในยุโรป นกในเอเชีย ควบกับโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือ H1N1 จากทวีปอเมริกาเหนือที่มียีนไข้หวัดใหญ่จากนก คน และหมู ซึ่งขณะนี้โรคไข้หวัดหมู G4 ก็ยังไม่มายังคนมากนัก แต่ต้องจับตา เพราะเชื้อเหล่านี้เป็นวิวัฒนาการ การควบรวมสายพันธุ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน สามารถคืบคลานข้ามทวีป ข้ามประเทศได้ โดยจะเริ่มจากการที่ติดเชื้อไม่มีอาการ จนกระทั่งเริ่มมีอาการน้อยๆ และต้องมีความระมัดระวังอย่างสูงที่จะกลายพันธุ์ ทำให้เกิดอาการมาก กระทั่งมีการติดต่อระหว่างคนสู่คนในที่สุด
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดหมู G4 จากจีนอยู่แล้ว โดยวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตนได้ส่งข้อมูลต่างๆ ให้กรมควบคุมโรคแล้วบางส่วน และที่ผ่านมา มีการเฝ้าระวังการป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มีอาการรุนแรง ระบาดเป็นกลุ่มก้อน หากพบให้แจ้งมายังหน่วยงานสาธารณสุขที่ใกล้กับจุดที่พบและรายงานมากรมควบคุมโรค เพื่อสอบสวนโรคและควบคุมโรคต่อไป สิ่งที่ต้องเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก และล้างมือบ่อยๆ เป็นการป้องกันโรคระบาดได้ดีแม้แต่โรคโควิด-19 นอกจากนี้ ในส่วนของกรมปศุสัตว์ ก็มีการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ด้วยเช่นกัน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า ยังต้องรอดูข้อมูลที่แน่ชัดอีกระยะ เนื่องจากต้นทางโรค คือ จีน โดยโรคนี้ถือเป็นโรคใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักฤทธิ์ หรืออาการ ยังต้องจับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวล เพราะขณะนี้ไทยมีการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่อยู่ และประชาชนทั่วไปต่างสวมใส่หน้ากากก็ป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ทำให้อัตราการป่วยไข้หวัดของไทยลดลง ส่วนความตื่นตระหนก บางคนลดบริโภคหมู หรือนก ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อไวรัสไข้หวัดหมู เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกขนาดนั้น เพราะลำพังเชื้อโควิดที่ทุกคนกังวลว่า อาจมาจากการกินซุปค้างคาว แต่ปรากฏแล้วว่า ไม่ใช่ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องกังวลถึงขั้นไม่บริโภคอาหารที่มีเนื้อสัตว์เหล่านั้น ทั้งนี้ ตามธรรมชาติของการเกิดโรคระบาด เมื่อมีโรคระบาดหนึ่งเกิดขึ้นแล้วอย่างโควิด โดยทั่วไปเชื้อโรคหรือไวรัสอื่นอาจพบได้ แต่อาจไม่รุนแรง และเชื่อว่า ครั้งนี้ทางการจีนมีประสบการณ์การป้องกันและเฝ้าระวังโรคอย่างดี หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19