xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” ดึงเด็กมหา’ลัย ร่วมสร้างคนรุ่นใหม่เท่าทันปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เพราะเด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า แต่ทำอย่างไร จะให้เด็กๆ เติบโตไปอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของสุขภาพ และนี่ก็เป็นที่มาของ MOU ที่จะช่วยเปิดประตูบานแรกในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพออกสู่สังคม


เพราะเล็งเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) และ มหาวิทยาลัยเอกชนนำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยสยาม, มหาวิทยาลัยรังสิต และ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาเพื่อรู้เท่าทันปัญหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เพื่อร่วมกันเป็นพลังขับเคลื่อนกิจกรรมของโครงการ ผ่านเครือข่ายนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

โดยภายในงาน มีบุคคลสำคัญจากหลากหลายหน่วยงาน ร่วมลงนามและเป็นสักขีพยาน ทั้ง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 เป็นประธาน, ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. รวมทั้งผู้แทนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ
ที่มาและเนื้อหาใจความของการลงนามดังกล่าว ดร.สาธิต ปิตุเตชะ ซึ่งเป็นประธานในพิธี ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกชุดให้ความสำคัญ และประตูบานแรกที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือ เรื่องของการสื่อสาร ซึ่งการสื่อสารที่ทรงพลังมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นการสื่อสารผ่านเด็กวัยเดียวกันที่มีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันได้ดี

“เรามีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยลดปัญหาของเด็กและเยาวชนได้อย่างแท้จริง โดยในฐานะผู้ใหญ่ จะติดตามให้คำแนะนำ รวมทั้งให้ความรู้ ความถูกต้องเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต


ดร.สาธิต ปิตุเตชะ กล่าวแสดงความเชื่อมั่น พร้อมทั้งแจกแจงถึง 3 เรื่องหลัก ที่โครงการตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งการพนัน อุบัติเหตุ และการสูบบุหรี่ ที่นับเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมวัยรุ่นยุคปัจจุบัน โดยปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านแผนงานควบคุมยาสูบ ระบุว่า ปี 2560-2564 การสูบบุหรี่ของเด็กอายุระหว่าง 15-18 ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.58 เป็นร้อยละ 8.25

สอดคล้องกับข้อมูลจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่พบว่า ปัจจุบันมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดบุหรี่แล้ว 400,000 คน ซึ่งในจำนวน 10 คน ที่ติดบุหรี่ 7 คน จะเลิกไม่ได้ตลอดชีวิต ส่วน 3 คน เลิกได้ แต่จะติดบุหรี่เป็นระยะเวลาเฉลี่ยกว่า 20 ปี อย่างไรก็ดี จำนวนตัวเลขเหล่านี้ยังไม่นับรวมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน จากกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบที่พยายามโฆษณาหลอกล่อเด็กและเยาวชน

“ขณะที่ปัญหาการเล่นพนันออนไลน์ของเด็กและเยาวชนก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบว่า มีเด็กและเยาวชนไทยถึงร้อย 94.2 เติบโตภายใต้สังคมที่แวดล้อมไปด้วยผู้เล่นพนัน ทั้งพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท ซึ่งมีผลโดยตรงในการชักนำเข้าสู่เส้นทางการเล่นพนัน เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่น่าเป็นห่วง เพราะองค์การอนามัยโลก ระบุว่า การเสพติดการพนัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย จิต และระบบสมอง ไม่น้อยไปกว่าการเสพยาเสพติด”

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม
ด้วยเหตุนี้ เด็กและเยาวชนจึงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงในหลายด้าน เหมือนกับที่ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลว่า ปัญหาที่เกิดกับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ทั้งการพนัน การสูบบุหรี่ ตลอดจนเรื่องของอุบัติเหตุที่นับวันจะทวีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเห็นตัวเลขแล้วนับว่าน่าตกใจ

ข้อมูลจากสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ อ้างโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ระบุว่า เด็กและเยาวชนที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง 100 คน จากอุบัติเหตุ จะกลายเป็นผู้พิการ 5 คน และทั้งปีจะมีเด็กและเยาวชนกลายเป็นผู้พิการกว่า 2,000 คน

“ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่าย พยายามกระตุ้นสังคมในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี กระทั่งได้มองเห็นความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพออกสู่สังคม จึงร่วมกันลงนาม MOU ในครั้งนี้ ด้วยความหวังว่า เด็กในวัยเดียวกันจะสามารถเข้าถึงปัญหาเฉพาะวัยของกันและกันได้ดียิ่งกว่าผู้ใหญ่”

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ สสส. จะสนับสนุนให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันของส่วนราชการ ภาคประชาสังคม เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา รู้เท่าทันตัวเอง และรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนการมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาว อีกทั้งจะร่วมพัฒนาให้เกิดระบบที่เอื้อต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ระยะยาว ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

“เมื่อโครงการประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ใน 3 ปีแรก สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งใจที่จะขยายไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งอื่นๆ อีกด้วย และในระหว่างการดำเนินงาน คาดว่า จะพบปัญหาใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การวิจัย หรือแม้กระทั่งกิจกรรมที่เห็นผลสำหรับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ซึ่งในอนาคตนอกจากปัญหาด้านสุขภาพ อาจจะเป็นการร่วมมือแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในสังคมตามมา”

พชรพรรษ์ ประจวบลาภ
ขณะที่ นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวอย่างมีความหวัง ว่า MOU ดังกล่าวนี้ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาให้กับเด็กและเยาวชนได้อย่างเป็นรูปธรรม และพร้อมสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด

“ในฐานะองค์กรขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี นำมาสู่แนวคิดในการร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา ภายใต้แนวคิด ‘เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน’ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยนำร่อง 5 แห่ง โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายนักศึกษา ซึ่งหลังจากนี้ ยท. จะสนับสนุนทรัพยากรให้แกนนำนักศึกษาหรือสโมสรนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ไปดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การรณรงค์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ทักษะทางวิชาการ ตลอดจนผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน”




กำลังโหลดความคิดเห็น