xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ห่วงเยาวชนไทย อายุต่ำกว่า 18 ปี ติดบุหรี่ 4 หมื่นคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ. ห่วงเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 18 ติดบุหรี่ 4 หมื่นคน “สสส.- สถาบันยุวทัศน์ฯ-5 มหาวิทยาลัย เดินหน้าลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพกลุ่มนักศึกษา จากการสูบบุหรี่ ลดอุบัติเหตุ ติดพนัน

วันนี้ (25 มิ.ย.) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาเพื่อรู้เท่าทันปัญหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) และมหาวิทยาลัยนำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยรังสิต และ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต โดยมี ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน

ดร.สาธิต กล่าวว่า ปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากแผนงานควบคุมยาสูบ ปี 2560-2564 ระบุว่า การสูบบุหรี่ของเด็กอายุระหว่าง 15-18 ปี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 6.58 เป็นร้อยละ 8.25 สอดคล้องกับข้อมูลมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พบว่า ปัจจุบันมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดบุหรี่ 400,000 คน ซึ่งในจำนวน 10 คนที่ติดบุหรี่ 7 คนจะเลิกไม่ได้ตลอดชีวิต ส่วน 3 คน เลิกได้ แต่จะติดบุหรี่เฉลี่ยกว่า 20 ปี จำนวนตัวเลขเหล่านี้ยังไม่นับรวมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบที่พยายามโฆษณาหลอกล่อเด็กและเยาวชน

ขณะที่สถานการณ์ปัญหาการเล่นพนันออนไลน์ของเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า การเสพติดพนันส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย จิต และต่อระบบสมอง กลุ่มเดียวกับการเสพยาเสพติด ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบเด็กและเยาวชนไทยกำลังใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เสริมแรงให้เข้าสู่การเส้นทางการพนันถึงร้อยละ 94.2 ที่เด็กและเยาวชนเติบโตภายใต้สังคมที่แวดล้อมไปด้วยผู้เล่นพนัน ทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อนสนิท ซึ่งมีผลโดยตรงในการชักนำเข้าสู่จุดเริ่มต้นของการเล่นการพนัน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในเด็กและเยาวชนมีความรุนแรงไม่ต่างกับปัญหาข้างต้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องใช้รถจักรยานยนต์เดินทางเสมอ ข้อมูลจากสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ อ้างโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ระบุว่า เด็กและเยาวชนที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง 100 คนจากอุบัติเหตุ จะกลายเป็นผู้พิการ 5 คน และทั้งปีจะมีเด็กและเยาวชนกลายเป็นผู้พิการกว่า 2,000 คน ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่าย พยายามกระตุ้นสังคมในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี กระทั่งมองเห็นความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพออกสู่สังคม จึงจับมือกันทำพิธี MOU ขึ้น หลังจากนี้ สสส. จะสนับสนุนให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันของส่วนราชการ ภาคประชาสังคม เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา รู้เท่าทันตัวเอง และรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงบั่นทอนการมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาว

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า ยท. โดยโครงการพัฒนาการสื่อสารและเฝ้าระวังกลยุทธ์การโฆษณาและการตลาดของธุรกิจบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม และสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ตระหนักดีถึงปัญหาข้างต้น ดังนั้น ในฐานะองค์กรขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนมากว่า 10 ปี จึงมีแนวคิดจับมือกับสถาบันอุดมศึกษา พื้นที่นำร่อง 5 แห่ง ภายใต้ความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาเพื่อรู้เท่าทันปัญหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นสร้างเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา และเครือข่ายนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในการดำเนินกิจกรรมรณรงค์ป้องกันด้านปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ซึ่งหลังจากนี้ ยท. จะสนับสนุนทรัพยากรให้แกนนำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยไปดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การรณรงค์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ทักษะทางวิชาการ ไปจนถึงการผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน”




กำลังโหลดความคิดเห็น