xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการอิสระมอบรายชื่อ 186 รพ.รับเงิน 5% บริษัทยา ด้าน กก.ยันยังไม่ผิด เร่งหาข้อมูลเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการอิสระมอบรายชื่อ 186 รพ.รับเงินบริษัทยา 5% ให้ คกก.ตรวจสอบข้อเท็จจริง ย้ำเป็นแค่การสำรวจ ไม่ได้ฟันว่าทำผิด เผย รพ.และบริษัทยายังสับสนเรื่องการบริจาคและผลประโยชน์ต่างตอบแทน ต้องทำความเข้าใจให้ชัด เงินส่วนลดต้องเข้าตะกร้าเงินหลวง ห้ามจัดซื้อแบบมีเงื่อนไขไม่ว่าบริษัทยาจะชนะประมูลหรือไม่ ด้าน ปธ.กรรมการฯ ยันยังไม่ผิด เตรียมประชุมเพิ่ม 26 มิ.ย. เชิญกลุ่ม รพศ./รพท. และ รพช.ให้ข้อมูล

วันนี้ (22 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีรพ. 186แห่ง รับเงิน 5% บริษัทยา ซึ่งมี นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ เป็นประธาน ได้มีการเชิญนายมนู สว่างแจ้ง นักวิชาการอิสระและอดีตผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย เข้ามาให้ข้อมูล

นายมนู ให้สัมภาษณ์ภายหลังให้ข้อมูลว่า วันนี้มาให้ข้อมูลที่ตนเคยระบุว่า ยังมี รพ.รับเงินบริจาคหรือเงินสวัสดิการ 5% จากบริษัทยา โดยได้ยื่นรายชื่อ รพ.ทั้งหมดให้คณะกรรมการฯ แล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่า มีบริษัทยาแห่งใดบ้างที่จ่ายให้กับ รพ. และขอไม่เปิดเผยรายชื่อต่อสื่อมวลชน ระบุได้แค่เพียงว่าอยู่ใน 49 จังหวัด เพื่อเป็นข้อมูลให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการตรวจสอบต่อไป นอกจากนี้ ขอให้คณะกรรมการฯ สื่อสารไปยัง รพ.และบริษัทยา ให้เข้าใจหลักการคิดเกี่ยวกับเงินส่วนนี้ว่า ไม่ใช่เงินบริจาค เพราะเงินบริจาคตามระเบียบของกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2561 ระบุว่า เงินบริจาคต้องให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ หากมีเงื่อนไขในการบริจาคจะไม่เรียกเป็นเงินบริจาค แต่จะเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน

นายมนูกล่าวว่า เงินในรพ.มี 3 ตะกร้า คือ 1. เงินหลวง 2. เงินหลวงร่วมกับเอกชน เช่น กองทุนต่างๆ และ 3. เงินเอกชน 100% ซึ่งเงินจากบริษัทยา 5% ที่เดิมเป็นเงินส่วนลดก่อนมาเป็นเงินสวัสดิการ ก็ถือเป็นเงินส่วนลด หลักการของ ป.ป.ช. คือ การจัดซื้อยาใช้เงินหลวง ถ้ามีเงินส่วนลดจากการจัดซื้อยา ก็ต้องนำเงินเข้าตะกร้าที่เป็นเงินหลวงหรือเงินบำรุงเท่านั้น ทั้งนี้ เข้าใจว่า รพ.และบริษัทยายังเข้าใจสับสนเกี่ยวกับเงิน 5% และเงินบริจาค ยังมีการตีความที่สับสน จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งทำความเข้าใจ หรือออกเป็นแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน


นายมนูกล่าวว่า ตนยังได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อคณะกรรมการฯ 2 รูปแบบ เพื่อป้องกันปัญหาเกิดขึ้นซ้ำๆ คือ 1. หากบริษัทยาอยากจะบริจาคให้กับ รพ.จะต้องผ่านกลไกการบริจาคของกระทรวงการคลังที่ดำเนินการเช่นเดียวกับโรงเรียนและวัด และ 2. การจ่ายเงินค่ายา รพ.ควรที่จะมีการโอนเงินค่ายาให้กับบริษัทยาโดยตรง ไม่ต้องให้พนักงานเป็นคนเข้าไปเก็บเงินที่ รพ. เพื่อป้องกันการมีข้อแม้หรือข่มขู่ให้ต้องบริจาคก่อนการจ่ายเงินค่ายา โดยยกตัวอย่าง 2 องค์กรที่มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด โดยองค์กรแรกเป็นกลุ่มแพทย์ที่ออกมาประกาศว่า จะจัดซื้อยาในราคาสุทธิเท่านั้น และอีกองค์กรเป็นรัฐวิสาหกิจที่ประกาศยกเลิกไม่จ่ายเงิน 5% ให้ รพ. ซึ่งไม่ได้ทำให้ยอดขายลดลง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เงิน 5% เชื่อมโยงว่าบริษัทยาแห่งใดจะเป็นผู้ชนะและได้สิทธิ์ในการขายยาให้รพ.หรือไม่ นายมนูกล่าวว่า ระบบจัดซื้อยาปัจจุบันดีมากอยู่แล้ว เป็นกลไกของการประมูล ไม่มีการล็อกสเปก บริษัทยาใดเสนอราคาได้ต่ำที่สุดก็เป็นผู้ชนะ เพียงแต่ขั้นตอนยื่นซองประมูลก็จะมีการโทรศัพท์ไปยังบริษัทที่ยื่นซองประมูลว่าจะจ่าย 5% หรือไม่ แม้ว่าบางบริษัทจะตอบยินดี หรือตอบไม่ยินดี และไม่ว่าจะจะไม่ใช่บริษัทที่ชนะการประมูล แต่การโทรศัพท์ไปก็ถือเป็นการผูกเงื่อนไขแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า 186 รพ.ยังไม่มีความผิดใช่หรือไม่ เพราะเปิดเผยออกมาทำให้เข้าใจว่าผิด นายมนูกล่าวว่า ไม่ผิด เพราะเป็นการสำรวจแบบกว้าง ต้องให้มีการตรวจสอบกันต่อไป


ต่อมา นพ.ม.ล.สมชาย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า วันนี้นายมนูได้มาให้ข้อมูลและชื่อของ รพ. 186 แห่ง ซึ่งได้จากการสำรวจ แต่ไม่ได้สำรวจทั้งประเทศ เป็นการสำรวจบางจังหวัด ดังนั้น รพ.จึงยังไม่มีความผิด โดยคณะกรรมการฯ จะหาความชัดเจนเพิ่มโดยภายใน 1-2 วัน จะทำหนังสือไปสอบถามกับ รพ.ทั่วประเทศให้มากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะ 186 รพ.เท่านั้น เพื่อดูว่าแต่ละ รพ.มีหลักในการจัดตั้งเกี่ยวกับการรับบริจาคหรือกองทุนสวัสดิการต่างๆ อย่างไร ทำตามระเบียบหรือไม่ และย้ำว่า ไม่ได้ต้องการเอาผิด แต่ต้องการรู้ถึงแนวทางปฏิบัติว่าทำถูกต้องหรือไม่ บางแห่งอาจไม่ถูกแต่กลับมาถูกแล้ว หรือบางแห่งยังทำไม่ถูกเพราะอะไร โดยวันที่ 26 มิ.ย. คณะกรรมการฯ จะประชุมอีกครั้ง โดยจะเชิญ 2 กลุ่มมาให้ข้อมูล คือ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มาร่วมด้วย และเท่าที่ทราบทั้ง 2 กลุ่ม ก็มีการทำมาตรการเพื่อดูแลควบคุมเรื่องนี้ เพราะไม่มีใครอยากทำผิด

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าที่ย้าย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ขอนแก่น เพราะการรับเงิน 5% ดังนั้น ผอ.รพ.ทั้ง 186 แห่ง ต้องมีความผิดด้วยหรือไม่ นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้ไม่ได้ระบุว่าเป็น ผอ.ท่านใด และการสำรวจก็บอกว่าเป็นแนวโน้ม จึงยังเอาผิดใครไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น