xs
xsm
sm
md
lg

แลหน้าแลหลัง วันไม่สูบบุหรี่โลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย...ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันไม่สูบบุหรี่โลกปีนี้ ผ่านไปอย่างคึกคักมากทีเดียว มีคนที่ร่วมรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆทั่วประเทศ แต่เมื่อหายเหนื่อยแล้ว น่าจะมาทำความรู้จักกับสาระที่เกิดมีวันนี้ขึ้น เพื่อประเทืองสติสำหรับการทำงานเกี่ยวกับยาสูบต่อๆไป

วันไม่สูบบุหรี่โลก ถูกกำหนดขึ้นเมื่อปี 2531 โดยองค์การอนามัยโลก ขณะนั้นทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ปีละ 2.5 ล้านคน มากกว่าจำนวนคนที่ตายจากเครื่องบินจัมโบ้ 747 ตก วันละ 20 ลำทุกๆวัน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่ป้องกันได้อันดับหนึ่งของโลก และประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มีกฏหมายและนโยบายในการควบคุมยาสูบ เป็นยุคที่เหมือนสวรรค์ของบริษัทบุหรี่ที่ขยายตลาดได้อย่างตามใจชอบ

คำขวัญวันไม่สูบบุหรี่โลกปีแรก “บุหรี่หรือสุขภาพ เลือกสุขภาพ”

หลังจากนั้นแต่ละปี มีการกำหนดประเด็นรณรงค์โดยองค์การอนามัยโลก เช่น ปี 2532 “พิษของบุหรี่ต่อสตรี ยิ่งมีมากกว่าบุรุษ” ปี2533 “เติบโตอย่างสดใส ห่างไกลจากภัยบุหรี่” จากปัญหาขณะนั้นคือบริษัทบุหรี่พุ่งเป้าการตลาดไปที่สตรีและเด็ก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

ในปีแรกๆ องค์การอนามัยโลกจะทำเอกสาร ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่รณรงค์ และมีคำแนะนำว่า ภาครัฐควรทำอะไร เช่นกำหนดนโยบาย ออกกฏหมาย มีประเทศใหนมีกฏหมายดีๆ มีตัวอย่างการสนับสนุนการควบคุมยาสูบของประเทศต่างๆ

ภาคประชาสังคมและองค์กรเอกชนควรทำอะไร มีตัวอย่างโครงการดีๆจากประเทศต่างๆ นอกเหนือจากการรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่

วันไม่สูบบุหรี่โลก เป็นต้นแบบของ วันอะไรต่อมิอะไรของโลก ที่มีต่อๆมาทั้งหมดก็ว่าได้ เช่นวันเอดส์โลก วันเบาหวานโลก ฯลฯ รวมทั้งวันของเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ

โดยเจตนาแล้ว องค์การอนามัยโลกไม่ได้ต้องการให้วันไม่สูบบุหรี่โลก เป็นวันที่รณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่เท่านั้น แต่ให้มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการชี้แนะนโยนาย ( Advocacy) ผลักดันนโยบาย -กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ หรือให้มีการขึ้นภาษี ในประเทศที่มีกฏหมายแล้ว ก็ให้มีการติดตามประเมินผลการบังคับใช้กฏหมาย

ส่วนภาคประชาสังคมก็ให้มีการเชิญชวน เพิ่มเติมขยายวงผู้ที่มีส่วนร่วม โดยเฉพาะผู้นำและผู้มีชื่อเสียงในสังคม มาเป็นทั้งต้นแบบที่ไม่สูบบุหรี่ เชิญชวนให้คนเลิกสูบบุหรี่ และสนับสนุนนโยบายควบคุมยาสูบ รวมทั้งชี้แนะนโยบาย. Advocacy ให้ทำเรื่องนี้เรื่องนั้น ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และสิ่งแวดล้อมทางสังคม ที่จะนำไปสู่เป้าหมายหลัก 3 ข้อของการแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ คือ การทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ การลดจำนวนเด็กที่จะเข้ามาติดบุหรี่หรือที่เรียกว่าการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ และการป้องกันคนไม่สูบบุหรี่จากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งทั้ง 3 เป้าหมายนี้ ไม่สามารถที่จะบรรลุได้ ด้วยการรณรงค์แต่เพียงอย่างเดียว

จึงต้องมีกฏหมายควบคุมการตลาดของบริษัทบุหรี่ จำกัดการขายบุหรี่แก่เด็กอายุไม่ถึงเกณฑ์ ห้ามการโฆษณาส่งเสริมการขาย พิมพ์ภาพน่าเกลียดบนซอง เพื่อลดความเย้ายวนของซองบุหรี่ ทำให้เด็กไม่อยากเริ่มสูบและคนที่ติดบุหรี่อยู่อยากเลิก

ขณะที่กฏหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะก็เพื่อคุ้มครองคนไม่สูบบุหรี่จากควันบุหรี่มือสอง และในที่ที่กฏหมายเอื้อมไปไม่ถึงอย่างเช่นที่บ้าน ก็ใช้วิธีรณรงค์ให้คนไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ผ่านสโลแกน. บ้านปลอดบุหรี่

ส่วนการทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ก็ต้องกำหนดนโยบาย จัดให้มีบริการรักษาการเลิกบุหรี่ ให้คนสูบบุหรี่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยกำหนดให้ยารักษาเพื่อเลิกบุหรี่อยู่ในชุดสิทธิประกันสุขภาพบัตรทองเป็นต้น

วันไม่สูบบุหรี่โลก จึงไม่ใช่มีเพียงกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้แต่เพียงอย่างเดียว

ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ต้องชี้แนะ ผลักดันให้รัฐบาล ทั้งรัฐบาลกลาง จังหวัด ท้องถิ่นและชุมชน เห็นถึงจุดอ่อนในการควบคุมยาสูบ ในเชิงนโยบาย การปฏิบัติตามนโยบาย และการบังคับใช้กฏหมายต่างๆที่มีอยู่ เพือ่นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการลดจำนวนคนสูบบุหรี่ อันจะลดภาระโรงพยาบาลที่จะต้องให้บริการคนที่ป่วยจากการสูบบุหรี่ และสุดท้ายจะส่งผลตรอการเสียชีวิตก่อนเวลาจากการสูบบุหรี่ของคนในจังหวัด ที่เนันจังหวัด เพราะคนสูบบุหรี่ 10 ล้านคน ล้วนกระจายอาศัยอยู่ตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ

กลับมาที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่เริ่มทำงานปี พศ 2529 เราตั้งเป้าหมายว่า หน้าที่หลักของเราคือการผลักดันให้เกิดนโยบายและกฏหมายควบคุมยาสูบ การทำกิจกรรมหรือการรณรงค์ใดๆ ควรจะนำไปสู่การส่งผลต่อการผลักดันนโยบาย (Polcy advocacy & lobbying) ทำให้งานแรกของมูลนิธิฯ นอกจากการผลิตเอกสารชุดความรู้พิษภัยของการสูบบุหรี่แล้ว เป้าหมายแรกด้านนโยบายคือการผลัดดันให้มีกฏหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ โดยเราเผยแพร่ถึงผลเสียของการโฆษณาบุหรี่ ที่ทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้คนสูบบุหรี่เลิกยากขึ้น เราไม่มีงบที่จะโฆษณาแข่งกับบริษัทบุหรี่ เราจึงต้องอาศัยอำนาจรัฐ ออกกฏหมายห้ามโฆษณา จนมาประสบความสำเร็จปี พศ 2532 ที่ครม ให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค. ออกประกาศห้ามโฆษณาบุหรี่ และพัฒนาการต่อมาจนเป็นพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535

ในส่วนของการทำให้มีโครงสร้างที่จะเป็นจุดจัดการทำงานควบคุมยาสูบภาครัฐ เราก็วิ่งเต้นจนเกิดมติ ครม.ปี พ.ศ. 2533 ให้มีการตั้งสำนักงานควบคุมยาสูบขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข และได้มีการตั้งสำนักขึ้นในปี พ.ศ. 2534

ผมจึงดีใจที่ภาคีทีทำงานยาสูบตามจังหวัดต่างๆ ออกรณรงค์วันไม่สูบบุหรี่โลก ด้วยการไปตรวจตราสถานที่ที่ต้องจัดเขตปลอดบุหรี่ตามกฏหมาย หรือให้ความรู้ร้านค้าปลีกไม่ขายบุหรี่เป็นมวน ไม่ขายแก่เด็ก ไม่ใช่รณรงค์ให้ความรู้เรื่องติดบุหรี่ติดโควิด เสี่ยงตายแต่เพียงอย่างเดียว
หรือบางแห่งก็จัดชุดออกไปบังคับใช้กฏหมายกันจริงจัง

ผ่านงานวันไม่สูบบุหรี่โลกแล้ว จึงหวังว่า ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและประชาสังคม จะได้ทบทวนถึงอุปสรรคปัญหางานควบคุมยาสูบ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่แต่ละคนอาศัยอยู่

โดยเน้นถึงภาระกิจสำคัญในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ การป้องกันผู้คนจากควันบุหรี่มือสอง และการรักษาคนที่ติดบุหรี่ให้เลิกสูบ

ในภาพใหญ่ กฏหมายควบคุมยาสูบที่สำคัญๆ เราได้ช่วยกันผลักดันออกมาเกือบหมดแล้ว งานต่อไปคือทำให้มีการบังคับใช้กฏหมายดีๆที่ออกมาแล้วอย่างจริงจัง ส่วนจุดอ่อนใหญ่เรื่องภาษีและยาเส้น เรื่องการควบคุมบุหรี่หนีภาษีเรายังต้องพยายามช่วยกันแก้ใขต่อไป

ลำดับเหตุการณ์สำคัญการควบคุมยาสูบของประเทศไทย
พ.ศ. 2529 ก่อตั้งโครงการ (มูลนิธิ)รณรงค์เพื่อการไม่สูบ. บุหรี่
พ.ศ. 2532 ครม ตั้ง คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ประกาศ สคบ ห้ามโฆษณายาสูบ
พ.ศ. 2533 ครม เห็นชอบ ตั้ง สนง ควบคุมยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข
พ.ศ. 2535 สภานิติบัญญัติฯ ออก พรบ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ พรบ คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่
พ.ศ. 2536 ครม มีมติเห็นชอบ ขึ้นภาษียาสูบ และให้ขึ้นเป็นระยะ ตามการเปลี่ยนแปลงค่าครองชีพ
พ.ศ. 2544 รัฐสภาฯ ผ่าน พรบ สสส เก็บภาษีสุราและยาสูบเพิ่ม 2 % เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
พ.ศ. 2548 ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก
พ.ศ. 2553 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขห้ามจัดที่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะทุกที่ ยกเว้นสนามบินนานาชาติ
พ.ศ. 2555 ครม เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ให้ทุกหน่วยงานรัฐกำหนดมาตรการควบคุมยาสูบตามที่ระบุในอนุสัญญาควบคุมยาสูบ
พ.ศ. 2560 สภานิติบัญญัติฯ ออก พรบ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด เพื่อดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ควบคุมยาสูบ


กำลังโหลดความคิดเห็น