ศจย. พลิกวิกฤตเป็นโอกาส รณรงค์ชวนคนเลิกบุหรี่ช่วงโควิด-19 สกัดกลุ่มสูบเพิ่มในอนาคต หวังสร้างสุขภาวะให้วิถีปกติใหม่ หลังผลโพล “ศยจ.- สวนดุสิต” ตรงกัน พบคนไทยสูบบุหรี่น้อยลงถึงร้อยละ 30 เหตุห่วงสุขภาพ-ปัจจัยทางเศรษฐกิจ
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า หลังจาก ศจย.ทำการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทยทั่วประเทศ ทางออนไลน์ 800 ตัวอย่าง และทำการสำรวจการบริโภคยาสูบร่วมกับสวนดุสิตโพลในส่วนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ เกษตร และประมง ฯลฯ 1,105 ตัวอย่าง ในสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงช่วงมาตรการล็อกดาวน์ และ เคอร์ฟิว ระหว่างเดือนมีนาคม และ เดือนเมษายน ที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลไปใช้พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพ พบว่า ทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการบริโภคยาสูบลดลงเกือบร้อยละ 30 โดยในกลุ่มคนไทยทั่วประเทศสูบบุหรี่ลดลงร้อยละ 27.1 ส่วนกลุ่มแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบบริโภคยาสูบลดลง ร้อยละ 29 ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคที่ลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้นนี้มาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ กลัวกระทบกับสุขภาพ และปัจจัยทางเศรษฐกิจ
ศ.นพ.รณชัย อธิบายว่า ตัวเลขเชิงสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยทั่วประเทศสูบบุหรี่น้อยลงถึงร้อยละ 27.1 โดยให้เหตุผลว่ากลัวกระทบสุขภาพ ร้อยละ 38.4 ถัดมาคือ ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ร้อยละ 37.2 และตั้งใจเลิกในช่วงวิกฤตนี้ ร้อยละ 24.4 ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ และ เคอร์ฟิว มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อบุหรี่ โดยคนไทยซื้อบุหรี่น้อยลง ร้อยละ 30
ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากร้านสะดวกซื้อ พบว่า ในช่วงดังกล่าวคนไทยซื้อบุหรี่จากร้านสะดวกซื้อในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยยอดจำหน่ายบุหรี่ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ที่มีมาตรการล็อกดาวน์ และ เคอร์ฟิว ยอดจำหน่ายลดลงร้อยละ 25
จากการสำรวจยังพบด้วยว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาด มีคนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.1 โดยให้เหตุผลว่าสูบมากขึ้น เพราะเครียด ร้อยละ 18.3 และสูบเพราะไม่มีอะไรทำ ร้อยละ 14.8 ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ และ เคอร์ฟิว มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อบุหรี่ของคนไทย โดยซื้อบุหรี่ตุนมากขึ้น ร้อยละ 12.7 ซื้อครั้งละมากกว่า 1 ซอง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.7 และซื้อก่อนเวลาเคอร์ฟิว 22.00 น. 1-2 ชม. บ่อยครั้ง ร้อยละ 13.3 และบางครั้ง ร้อยละ 37.5 ซึ่งส่วนมากผู้สูบบุหรี่ซื้อบุหรี่จากร้านสะดวกซื้อ
ส่วนผู้ใช้แรงงานบริโภคยาสูบในปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17 โดยส่วนใหญ่เนื่องจากมีความเครียดกับสถานการณ์โควิด-19 มากที่สุด รองลงมาคือ มีความเครียดจากการทำงาน และกักตุนสินค้า/กลัวสินค้าขาดแคลน/กังวลเรื่องราคาสินค้า
ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าว เราควรพลิกวิกฤตที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาส พฤติกรรมการบริโภคยาสูบของคนไทยในช่วงภาวะวิกฤตโรคระบาดที่สะท้อนผ่านตัวเลขทั้งในกลุ่มที่สูบลดลงและสูบเพิ่มขึ้นนี้ แม้ไม่ใช่พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ แต่ก็มีนัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกกับทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อหาแนวทางการรณรงค์ให้คนไทยหันมาสนใจดูแลสุขภาพ และลดปริมาณการบริโภคยาสูบในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มของการสูบลดลง เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจ และกลัวกระทบกับสุขภาพ แสดงให้เห็นว่า บุหรี่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิต และควรสร้างวิถีปกติใหม่ หรือ New Normal ให้เป็นวิถีแห่งสุขภาวะ รวมถึงการสื่อสารข้อมูลสูบบุหรี่เสี่ยงป่วยโควิด-19 มากขึ้น จากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสัมฤทธิ์ผล สามารถสร้างความเข้าใจและตระหนักให้กับประชาชนได้ จึงต้องรักษาความเข้มข้นในจุดนี้ไว้ส่วนในกลุ่มที่บริโภคยาสูบมากขึ้นโดยมีสาเหตุจากความเครียดต่างๆ หน่วยงานด้านสาธารณสุขควรให้ความสำคัญด้านการดูแลสุขภาพจิตของผู้สูบเพื่อป้องกันการบริโภคยาสูบเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ศจย.จะนำข้อมูลที่ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
“ควรเลิกยาสูบทุกชนิด ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งในการป้องกันการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโควิด-19 ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต จึงขอเชิญชวนประชาชนและผู้ใช้แรงงานทุกคนที่เป็นผู้สูบ และผู้ที่ต้องการให้คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเลิกยาสูบ เข้าร่วม ‘โครงการเลิกสูบ ลดเชื้อ เพื่อตัวคุณ และคนที่คุณรัก’ ได้ที่ https://forms.gle/jeMPFVJs7QvWusHy9 และสามารถโทร.ปรึกษา สายเลิกบุหรี่ 1600 ได้ฟรี” ศ.นพ.รณชัย กล่าว