สช.เผย 3 มาตรการช่วยเหลือ “ครูเอกชน” และบุคลากร หลังรับผลกระทบปิดเรียนจากโควิด-19 งดดอกเบี้ยกองทุนเลี้ยงชีพ 6 เดือน ขยายโครงการใหม่กลุ่มอายุงาน 5-10 ปี ช่วยลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พันบาท กลุ่มไร้ประกันสังคม ส่วนผู้ประกันตน 1 แสนคน รับเงินทดแทนแล้ว 5 หมื่นราย อีกครึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ พร้อมเร่งโอนเงินอุดหนุนรายหัวให้ ร.ร.เอกชนเร็วขึ้น
วันนี้ (13 พ.ค.) นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวถึงกรณีสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอให้ช่วยเหลือ ร.ร.เอกชน 4,143 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเปิดสอนตามปกติ สูญเสียรายได้ แต่ยังแบกรับภาระค่าใช้จ่าย เงินเดือนครูและบุคลากรเช่นเดิม บางแห่งถึงขั้นปิดกิจการ มีผู้ตกงาน ว่า ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามหาแนวทางช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของ ร.ร.เอกชน โดยออกมาตรการให้ความช่วยเหลือในหลายส่วน ดังนี้
1. กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ออกมาตรการ 2 ส่วน คือ งดคิดดอกเบี้ยและค่าปรับสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (กองทุนเลี้ยงชีพ) ลูกหนี้เดิม (โครงการ 1-4) 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.- 30 ต.ค. 2563 และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการจาก 4.5% ต่อปี เหลือ 4% ต่อปี (ยกเว้นโครงการที่ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว) โครงการที่ 3-4 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป มีผลอัตโนมัติสมาชิกไม่ต้องยื่นคำร้อง และจัดตั้งสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) โครงการ 5 ขยายสิทธิ์ให้สมาชิกอายุงาน 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี กู้สินเชื่อร้อยละ 90 ของเงินสะสม (3%) ส่งเงินสะสม 60 งวดขึ้นไปต่อเนื่อง ส่วนอายุงาน 10 ปีขึ้นไป กู้ได้ร้อยละ 90 ของเงินสะสมและเงินสมทบ (12%) ส่งเงินสะสมและเงินสมทบ 120 งวดขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครูและบุคลากรใหม่ๆ ส่วนครูที่เป็นสมาชิกมานานแล้วจะได้แบ่งเบาภาระชำระค่างวดที่น้อยลง
2. ช่วยบุคลากร ร.ร.เอกชน ให้ได้รับเงินทดแทนของประกันสังคมและเงินเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” โดยบุคลากร ร.ร.เอกชน เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวนประมาณ 100,000 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดโรงเรียน และโรงเรียนงดจ่ายเงินเดือนค่าจ้าง สามารถยื่นขอรับเงินทดแทนในกรณีว่างงาน จากเหตุสุดวิสัย โดยล่าสุด บุคลากร ร.ร.เอกชน ที่ยื่นเรื่องทันตามกำหนดเวลา ได้รับเงินทดแทนแล้ว 50,000 คน อีกครึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้ สช.ช่วยบุคลากร ร.ร.เอกชน ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน สำหรับแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในประกันสังคม มีผู้ที่ได้รับสิทธิและเงินเยียวยาร้อยละ 60 ของจำนวนบุคลากรที่ลงทะเบียน
“ในส่วนของเงินอุดหนุนรายหัวต่างๆ สช.ได้เร่งโอนงบประมาณไปยังโรงเรียนให้รวดเร็วกว่าทุกปี เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการตามบริบทของแต่ละแห่ง ซึ่งเชื่อว่าผู้อำนวยการและผู้รับใบอนุญาตสามารถใช้อำนาจในการบริหารงานของโรงเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ได้อย่างเต็มที่ ทั้งการบริหารจัดการ งบประมาณ บุคลากร แผนการเรียนการสอน เป็นต้น” นายอรรถพล กล่าว