ประกันสังคม เผย ลูกจ้างยื่นรับเงินทดแทนว่างงานจาก “โควิด” 1.1 ล้านราย ไม่เข้าเกณฑ์ 2.19 แสนราย มีสิทธิรับเงินเยียวยา 9.5 แสนราย จ่ายเงินแล้ว 4.5 แสนราย เป็นเงิน 2.3 พันล้านบาท พบ 2.9 แสนรายยังจ่ายไม่ได้ เหตุนายจ้างยังไม่รับรอง ย้ำต้องตรวจสอบก่อน หากนายจ้างยังจ่ายเงิน หรือจ่าย 75% ตาม กม.คุ้มครองแรงงาน จะใช้สิทธินี้ไม่ได้ แจงเงินเดือนเท่ากันได้รับเงินไม่เท่ากัน เพราะวินิจฉัยจ่ายคนละวัน แต่รวม 90 วัน ได้เงินเท่ากันแน่นอน
วันนี้ (4 พ.ค.) นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวในการแถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจ้างงาน สปส.จึงได้ออกกฎหมายการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย พบว่า ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.- 2 พ.ค. 2563 มีผู้ประกันตนมายื่นขอใช้สิทธิ 1,177,841 ราย ตรวจสอบพบมีผู้ยื่นซ้ำ และไม่ใช่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 219,537 ราย คงเหลือผู้มีสิทธิ 958,304 ราย โดย สปส.ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาได้ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2563 ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยวินิจฉัยสั่งจ่ายแล้วจำนวน 455,717 ราย คงเหลือ 207,895 ราย กำลังเร่งดำเนินการ ส่วนอีกจำนวนหนึ่งคือ 294,692 ราย เป็นลูกจ้างที่นายจ้างยังไม่ได้เข้ามารับรองสิทธิ โดยมีนายจ้างประมาณ 5 หมื่นราย เนื่องจากการยื่นขอรับเงินนั้นต้องยื่นมาจากทั้งลูกจ้างและนายจ้าง
“ขอความร่วมมือนายจ้างทุกรายช่วยมารับรองสิทธิให้ผู้ประกันตนด้วย ขณะนี้ได้ระดมเจ้าหน้าที่ประสานงานนายจ้างให้มารับรองสิทธิ รวมถึงมีการส่งข้อความ SMS แจ้งเตือนและมีหนังสือถึงนายจ้าง 5 หมื่นราย ให้รีบมาดำเนินการมา สปส.จะได้วินิจฉัยสั่งจ่ายเงินให้ลูกจ้างได้ต่อไป” นายทศพล กล่าวและว่า สำหรับการสั่งจ่ายเงินให้ลูกจ้างแล้ว 4.5 แสนราย รวมเป็นเงิน 2,354 ล้านบาท ยืนยันว่า สปส.มีเงินเพียงพอที่จ่าย แต่ละวันมีผู้ทยอยว่างงานยื่นเข้ามาเฉลี่ยวันละ 3 หมื่นราย ส่วนข้อสงสัยติดต่อสอบถามประกันสังคม เรามีช่องทาง 1506 มีคู่สาย 250 คู่สายในการให้บริการ แต่ช่วงนี้อาจจะช้าบ้าง เพราะวันหนึ่งปริมาณคู่สายเพิ่มเข้ามาหลายหมื่นคู่สาย ประมาณ 11 เท่าตัวงานปกติ อาจต้องรอเล็กน้อย
นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ โฆษก สปส. กล่าวว่า กรณีนายจ้างยังประกอบกิจการอยู่ หากลูกจ้างยื่นเข้ามา จะไม่สามาถรับเงินเยียวยาได้ เพราะมีการประกอบกิจการ ลูกจ้างยังรับค่าจ้าง ส่วนอีกกรณีคือนายจ้างหยุดงาน แต่ยื่นขอใช้มาตรา 75 ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) คือ จ่ายเงินให้ลูกจ่าง 75% ของเงินเดือน สปส.ถือว่าเป็นเงินค่าจ้างที่ต้องส่ง สปส. จึงใช้สิทธิเยียวยาของ สปส.ไม่ได้ ดังนั้น กลุ่มสุดท้ายที่ยังรอนายจ้างรับรองจึงต้องให้นายจ้างเข้ามารับรองก่อน ถึงวินิจฉัยจ่ายเงินได้ เพราะเราไม่รู้ว่านายจ้างยังจ่ายค่าจ้างอยู่หรือว่าใช้มาตรา 75 ในการจ่ายเงิน 75% แต่ สปส.จะประสานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในการตรวจสอบข้อมูลด้วย
นางพิศมัย กล่าวว่า ส่วนสาเหตุที่เงินเดือนเท่ากันแต่ได้รับเงินเยียวยาไม่เท่ากันนั้น เนื่องจากช่วงเดือนแรกมีการวินิจฉัยและจ่ายเงินไม่ตรงกัน จึงได้รับเงินไม่เท่ากัน เช่น ยื่นวันที่ 1 เม.ย. แต่คนหนึ่งวินิจฉัยจ่ายวันที่ 26 เม.ย. ก็จะคิดคำนวณ 26 วัน อีกคนวินิจฉัยจ่ายวันที่ 30 เม.ย. ก็จะคิดเป็น 30 วัน ทำให้ได้รับเงินไม่เท่ากันในครั้งแรก แต่การประมวลจ่ายครั้งถัดไปจะจ่ายพร้อมกัน ดังนั้น เมื่อครบ 90 วัน ฐานเงินเดือนเท่ากันก็จะได้รับเงินเท่ากันแน่นอน อย่างไรก็ตาม การคำนวณจะคิดเป็นรายวัน ถ้าเงินเดือนเท่ากันทุกเดือน คิดรายวันก็ไม่มีปัญหา แต่บางคนค่าจ้างไม่เท่ากันในแต่ละเดือน ก็จะเอาเงินทั้งหมดมารวมกันแล้วหาร 90 วัน จะคิดออกมาเป็นรายวัน ก็อาจทำให้ได้ไม่เท่ากัน เพราะอย่าลืมว่าแม้ฐานเงินเดือนเท่ากัน แต่บางคนมีค่าครองชีพ มีค่าอื่นๆ ที่ถือเป็นค่าจ้างต้องนำส่งด้วย จะดูจากฐานเงินเดือนอย่างเดียวไม่ได้
นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักเงินสมทบ กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมในส่วนการลงทุนมี 2.03 ล้านล้านบาท ร้อยละ 82 นำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง คือ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรของรัฐวิสหากิจ ร้อยละ 18 ลงทุนในหน่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจได้ในความมั่นคงเสถียรภาพของกองทุน ยืนยันว่า เรามีความพร้อมเพียงพอ พร้อมจ่ายสิทธิประโยชน์ในทุกกรณี จากเดิมจ่ายร้อยละ 5 เหลือเพียงร้อยละ 1 ทำให้ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาทขึ้นไป หักเงินสมทบเดือนละ 750 บาท ก็จะได้คืน 600 บาท ในเวลา 3 เดือน หรือเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800 บาท