สธ.ชี้ หลังผ่อนปรนกิจการ 1 สัปดาห์ ไทยยังมีผู้ป่วยน้อย แต่ยังวางใจไม่ได้ ยังต้องใช้ชีวิตระมัดระวัง แนะ 4 ประเด็นควรทำต่อเนื่องให้เป็นชีวิตวิถีใหม่ แม้หมดโควิดก็ต้องทำต่อ ช่วยป้องกันโรคอื่น ลดปัญหาจราจร-ฝุ่น ชูทำงานที่บ้าน เว้นระยะห่างบุคคล ออกแบบสถานที่ให้ปลอดภัย มีฉากกั้น ดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน และป้องกันโรคส่วนบุคคล
วันนี้ (10 พ.ค.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของไทย ยังค่อนข้างดี หลังผ่อนปรนกิจการต่างๆ 1 สัปดาห์ แต่มีโอกาสกลับไประบาดแบบต่อเนื่อง หรือระดับวิกฤตได้ ถ้าการ์ดตก ประมาท ไม่ระมัดระวัง ทั้งนี้ ว่าการที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิดน้อยลง อย่างวันนี้มี 5 คน โดยเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 2 คน ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยแค่ 2 คน เพราะโรคนี้อาการค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่อาจคิดว่าตัวเองไม่ได้ติดเชื้อ บางคนไม่มีอาการผิดปกติ สธ.จึงต้องมีมาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก
“เราจะคลายใจก็ต่อเมื่อสถานการณ์การระบาดทั่วโลกดีขึ้น จนควบคุมได้ทุกประเทศ หรือมีวัคซีนให้คนไทยในกลุ่มสำคัญ จึงจะเข้าสู่ระยะการฟื้นฟู ดังนั้น ช่วงนี้เรากำลังเปิดเมืองเพื่อให้ภาคธุรกิจเดินหน้าได้ จึงต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง ถ้าไม่ใส่หน้ากากผ้าออกจากบ้าน ไปสถานที่ผู้คนแออัดเป็นประจำ ความเสี่ยงจะกลับมาเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยกลับมาเพิ่มขึ้นได้ หากไม่อยากเห็นสถานการณ์นี้ก็ต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสม” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า จากวันนี้ สธ.คาดหวังว่า สังคมจะเปลี่ยนไป และขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ 4 ประเด็น คือ 1. รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล คือ ควรให้ทำงานที่บ้านมากกว่า 70% กำหนดจำนวนคนเข้ามาทำงานและมาใช้บริการ เช่น จัดที่ทำงานใหม่ให้นั่งห่างกัน 1-2 เมตร ถ้าทำไม่ได้ อาจเอาฉากทึบมากั้น เพื่อป้องกันฝอยละอองน้ำลาย หรือเหลื่อมเวลาทำงาน ทำให้ที่ทำงานแออัดน้อยลง จัดระบบคิวลูกค้าไม่ให้มารอทั้งจุดบริการภาครัฐและเอกชน
2. ออกแบบทางวิศวกรรมให้สถานที่ต่างๆ ปลอดภัยมากขึ้น เช่น ใช้แผงกั้นละอองฝอยน้ำลาย ทำให้อากาศถ่ายเท ปิดแอร์เปิดหน้าต่าง หรือติดพัดลมดูดอากาศ หรือติดตั้งเครื่องกรองอากาศ
3. ปรับปรุงระบบงาน เป็นดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน เช่น ประชุมทางไกล การทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต การเรียนรู้ทางไกลจากที่ไหนก็ได้ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับปรุงระบบการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อลดความแออัด ทำงานสะดวกมีประสิทธิภาพมากขึ้น และรักษาความสะอาดสถานที่ต่างๆ
4. การใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวส่วนบุคคล พอสถานการณ์ดีขึ้น การใส่หน้ากากผ้าคงลดลง แต่อยากให้อยู่ในกลุ่มคนมีอาการทางเดินหายใจ ให้เป็นความปกติใหม่ คือ คนมีอาการไข้หวัด ใส่หน้ากากต่อไป ไม่ว่าโควิดจะอยู่หรือไม่ เพราะไม่เพียงป้องกันโควิด แต่ป้องกันโรคอื่น ล้างมือบ่อยๆ พกเจลแอลกอฮอล์ ช่วยทั้งไข้หวัด โรคทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินอาหาร อาหารเป็นพิษ รับประทานอาหารปรุงสุกสะอาด ใช้ช้อนกลางส่วนตัว
“เรื่องเหล่านี้ไม่ควรอยู่ชั่วคราว อย่ามองเป็นช่วงสั้นที่ทนอยู่สักพักแล้วผ่านไป อยากให้มีอยู่และต่อเนื่องแม้โควิดจะหมดไป อย่างทำงานที่บ้านช่วยเรื่องโรคอื่น ลดฝุ่น PM 2.5 ปัญหาจราจร ควรจะอยู่ต่อไปนานๆ เท่าที่แต่ละองค์กรทำได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการภายในแต่ละหน่วยงาน คือ New Normal จริงๆ ถ้าจบโควิดและจบกันไปเป็นแค่การตอบโต้ชั่วคราว ซึ่งการทำหลายอย่างมีประโยชน์มากกว่าแค่โควิด อยากให้ผลักดันเรื่องพวกนี้ต่อไป” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า หลายคนถามว่าโควิดจะจบเมื่อไร จะถูกปิดอีกหรือไม่ คำถามนี้ไม่ควรถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ควรถามคนไทยด้วยกันเอง คนมีพลังอำนาจยุติชะลอยับยั้งการแพร่ระบาด คือ คนไทยทุกคน กิจการที่รับอนุญาตให้เปิด เปิดด้วยความระวังลดความเสี่ยงเต็มที่หรือยัง ปรับปรุงพื้นที่ให้บริการหรือยัง เพื่อให้เสี่ยงต่ำที่สุด คนออกจากบ้านพยายามป้องกันตนเองเต็มที่แล้วหรือยัง ถ้าไม่อยากรับผลกระทบ อยากให้ชีวิตเดินต่อได้อย่างปกติสุข ทุกคนต้องให้ความร่วมมือป้องกันเต็มที่ ช่วยกันดูแลความเสี่ยงให้ต่ำต่อไป
เมื่อถามถึงการทำแผงกั้นใสตามร้านอาหารป้องกันได้หรือไม่ หรือควรเป็นรูปแบบใด นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ถ้าให้แนะนำ อยากให้มีแผงกั้นระหว่างโต๊ะอาหารมากกว่าตั้งบนโต๊ะอาหารตัวเองกัน การนั่งประจันหน้ากันแล้วมีแผงกั้นไม่เพียงพอ แผงกั้นควรอยู่ระหว่างโต๊ะจะมีประโยน์สูงกว่า และแผงกั้นระหว่างโต๊ะควรสูงมากกว่าศีรษะเวลานั่งหรือยืน และจะต้องกั้นออกไปด้านหน้าและด้านหลัง 1.5 เมตร ต้องสูงระดับหนึ่ง มีความกว้างระดับหนึ่งเช่นกัน
เมื่อถามถึงปัจจัยเสี่ยงการระบาดระลอก 2 นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การที่คนออกจากบ้าน การติดเชื้อแต่ละคนขึ้นกับ 2 อย่าง คือ 1. คนติดเชื้อในชุมชนมากแค่ไหน ซึ่งตอนนี้่ค่อนข้างต่ำ และ 2. ออกไปสัมผัสผู้คนมากแค่ไหน เจอคนมากก็เสี่ยงสูง เจอไม่มากความเสี่ยงก็จะต่ำ แต่ละที่ที่ไปก็เสี่ยงไม่เท่ากัน พื้นที่เคยพบผู้ป่วยก็เสี่ยงสูงกว่า อย่าง กทม.เคยพบผู้ป่วยมาก ตีความว่าจะเจอผู้ป่วยตรงไหนก็ได้ การลดความเสี่ยง คือ ลดผู้คนออกไปสัมผัสแต่ละวัน ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เลี่ยงสถานที่แออัด สนับสนุนการทำงานที่บ้าน เพื่อลดแออัดที่สาธารณะ รถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ แต่ละสถานที่ต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ หากหลีกเลี่ยงไปพื้นที่แออัดไม่ได้ ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ เลี่ยงสัมผัสตาจมูกปาก ผู้ประกอบการทบทวนลดความเสี่ยงตัวเองต่ำที่สุด ดูแลลูกค้า ลูกจ้าง ตัวเอง ให้ปลอดภัยที่สุด