xs
xsm
sm
md
lg

ม.อุบลฯ ผลิตเครื่องเหยียบกดเจลแทนมือแจก รพ.ลดเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุบลราชธานี - คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลฯ ทำแท่นเหยียบกดเจลแทนมือมอบให้โรงพยาบาลตำบลและอำเภอใช้ป้องกันการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ระหว่างประชาชนด้วยกันที่เข้าใช้บริการแต่ละวันจำนวนมาก

ผศ.ดร.มงคล ปุษยตานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำนักศึกษาและคณาจารย์ช่วยกันผลิตแท่นแจกเจลใช้ล้างมือฆ่าเชื้อโรค โดยใช้เท้าเหยียบที่แท่นแทนการเอามือไปกดเจลฆ่าเชื้อโรค เพราะมีโอกาสหากมีผู้ติดเชื้อมาใช้ร่วมทำให้รับเชื้อติดต่อกันได้ง่าย


ผศ.ดร.มงคลเล่าถึงแนวคิดที่ผลิตเครื่องดังกล่าวมาใช้ เนื่องจากในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกคนตระหนักและให้ความร่วมมือเพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ภาครัฐกำหนดขึ้น ช่วยลดการแพร่ระบาด ลดการเจ็บป่วยจนเป็นปัญหาด้านสุขภาพเหมือนในหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาของโรคระบาดนี้อยู่

คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงนำเอาองค์ความรู้มาประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ให้ผู้ใช้งานปลอดภัยจากการรับเชื้อโรค โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เพราะต้องสัมผัสใกล้ชิดกับประชาชนที่เข้าไปขอใช้บริการด้านการตรวจรักษาโรคต่างๆ ในแต่ละวันจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้คิดประดิษฐ์ทำฉากกั้นและกล่องใช้คัดกรองผู้ป่วยมอบแก่โรงพยาบาลในจังหวัดไปแล้วส่วนหนึ่ง


ต่อมา ดร.สุรเจษฐ์ ก้อนจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณาจารย์ที่คิดค้นประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยจากการรับเชื้อจากผู้ป่วย ได้พบข้อมูลจากหน่วยคัดกรองโรคตามโรงพยาบาลประจำตำบลและอำเภอว่าผู้ป่วยหรือผู้มาใช้บริการตามสถานพยาบาลต่างๆ พยายามหลีกเลี่ยงไม่กดเจลล้างมือที่วางให้บริการตามจุดต่างๆ ของโรงพยาบาล กลัวไปสัมผัสเชื้อโรคที่อาจมีอยู่บริเวณหัวกดเจลที่ให้บริการในสถานพยาบาล

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลฯ จึงนำปัญหาที่รับทราบมาศึกษาและทำการพัฒนาแท่นกดเจลโดยใช้เท้าเหยียบแทนการใช้มือกด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มือไปสัมผัสเชื้อจากหัวกดเจลตามที่ประชาชนส่วนใหญ่เกรงกลัว โดยอาศัยหลักการแนวคิดการใช้คานกระดกมาเป็นแม่แบบในการผลิต

คือ ให้ตัวเครื่องมีคาน และสปริงใช้ส่งแรงเหยียบจากเท้าผ่านก้านกระทุ้งไปที่หัวกดเจล ทำให้มีแรงไปบีบที่หัวจ่ายเจลฆ่าเชื้อโรคที่บรรจุอยู่ในขวดออกมาที่มือ เมื่อคลายแรงกดจากเท้า สปริงจะทำหน้าที่ลดการกดดันที่หัวเจลกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม ก็ไม่มีเจลไหลออกมา


จากการทดลองพบว่าแนวคิดใช้คานกระดกนี้สามารถใช้ได้กับขวดที่บรรจุเจลล้างมือได้หลายขนาด และหลายชนิดของเจลแต่ละแบบ รวมทั้งใช้ได้กับแอลกอฮอล์ชนิดน้ำด้วย และยังสามารถปรับความสูง ต่ำ หรือทิศทางการแจกเจลได้ตามต้องการของผู้ใช้ คือทั้งแบบให้มีคนคอยกดให้ หรือให้ประชาชนใช้เท้ากดเอาเองได้ตามใจชอบ

สิ่งสำคัญที่สุดคือ เน้นการออกแบบเครื่องที่มีความทนทาน ใช้งานง่าย ราคาถูก แตกต่างจากเครื่องกดเจลแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานได้ไม่นานก็ชำรุดเสียหายและมีราคาแพงกว่าเครื่องที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประดิษฐ์ขึ้น

เบื้องต้นได้ผลิตเครื่องออกมาจำนวน 20 เครื่อง เพื่อส่งมอบฟรีแก่โรงพยาบาลประจำอำเภอและโรงพยาบาลตำบลนำไปใช้คัดกรองป้องกันโรค


สำหรับหน่วยงานหรือเอกชนที่สนใจสามารถนำต้นแบบไปผลิตใช้ในองค์กรได้เอง โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ทำโครงร่างแบบ 3 มิติ มีการกำหนดขนาด พร้อมรายละเอียดของวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องซื้อมาใช้ประกอบการผลิต ซึ่งมีต้นทุนเพียงชุดละ 700 บาทเท่านั้น หรือต้องการเข้ารับการอบรมวิธีทำแท่นกดเจลโดยใช้เท้าเหยียบเป็นหมู่คณะ

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-4535-3300


กำลังโหลดความคิดเห็น