ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้บริหารโครงการจัดตั้งนิคมฯ ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ มอบเงิน 1,000,000 ล้านบาท หนุนการจัดทำตู้ครอบเตียงคนไข้ความดันลบสู้ภัยโควิด-19 ให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.บูรพา เพื่อนำไปแจกจ่ายให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
วันนี้ (1 พ.ค.) น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจามภิญญา ผู้บริหารโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ได้มอบเงิน จำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาเพื่อสนับสนุนการจัดทำตู้ครอบเตียงคนไข้ความดันลบ สู้ภัยโควิด-19 สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในโรงพยาบาลต่างๆ
โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศครุกิจโกศล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา บูรณเดชาชัย รองอธิการบดีฝ่ายอำนวยการและสื่อสารองค์กร พร้อมด้วยคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมรับมอบ
สำหรับตู้ครอบเตียงคนไข้ความดันลบ หรือ Negative pressure room ถือเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับดูแลคนไข้ที่มีโรคติดเชื้อและมีโอกาสที่เชื้อจะฟุ้งกระจายภายในอากาศภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน รวมทั้งการระดมทุนจากประชาชน และยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทซัปพลายเออร์ต่างๆ ในการมอบวัสดุอุปกรณ์ในราคาทุน จนสามารถจัดสร้างตู้ Negative pressure ได้มากกว่า 40 ตู้
และมีเป้าหมายการผลิตที่ 100 ตู้ เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ในภาคตะวันออก และทุกภูมิภาคทั่วประเทศเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานเป็นห้องป้องกันในการแพร่เชื้อได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงซึ่งอาจไม่ใช่เฉพาะโรคโควิด-19 เพียงอย่างเดียว และได้มีการดีไซน์ตู้ให้สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวกเพื่อสามารถนำไปใช้งานด้านอื่นได้ต่อไปในอนาคต
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา เผยว่า มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะสถาบันการศึกษาของรัฐ มีความพยายามที่จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในวันนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการจัดทำห้อง Negative pressure เพื่อดูแลและรักษาคนไข้โดยการนำแบบห้องความดันลบจากกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีความดันเป็นลบ และมีอากาศหมุนเวียนในห้องเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ฟุ้งกระจายในอากาศ
โดยที่ผ่านมา ได้มีการระดมทุนและจัดทำห้อง Negative pressure เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ทั้งคนไข้และแพทย์เพื่อลดการกระจายของเชื้อโรคที่ไม่ใช่เฉพาะโรคโควิด-19 เท่านั้น และในส่วนของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา มีความพร้อมในการดูแลและรักษาคนไข้เช่นกัน รวมทั้งการจัดทำหลักสูตรระยะสั้นสำหรับช่วยเหลือผู้ตกงานอีกด้วย
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศ ครุกิจโกศล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เผยว่าห้องความดันลบปกติจะใช้งบประมาณและเวลาในการจัดทำค่อนข้างยาวนาน เนื่องจากการเกิดเหตุการณ์วิกฤตโควิด-19 ทำให้หลายโรงพยาบาลรอไม่ได้ ดังนั้น การจัดทำตู้ความดันลบในรูปแบบของมหาวิทยาลัยจะช่วยเติมเต็มระหว่างการจัดสร้างห้องความดันลบ ซึ่งในส่วนของงบประมาณในการจัดสร้างตู้ความดันลบที่มหาวิทยาลัยดำเนินการค่อนข้างมีราคาถูกเพราะใช้วัสดุราคาไม่แพง โดยใช้ท่อพีวีซีที่คลุมด้วยมุ้งที่เป็นพลาสติกพีวีซี ที่มีความทนไฟ และใช้ระบบการดูดและกรองอากาศที่มีอานุภาพสูงในการกรองเชื้อไวรัสได้
ทั้งนี้ ต้นทุนดำเนินการต่อตู้อยู่ที่ 60,000 บาท แต่เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ต่างๆ ที่สนับสนุนทั้งอุปกรณ์โดยไม่คิดมูลค่า หรือขายให้ในราคาถูกจึงทำให้ต้นทุนเหลือเพียงตู้ละ 20,000 บาท ซึ่งทางคณะได้เปิดรับบริจาคงบประมาณสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาในการช่วยเหลือ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจเพื่อนำไปมอบให้ตามโรงพยาบาลต่างๆ อีกด้วย