xs
xsm
sm
md
lg

4 วิธีคิดปรับปรุง “พื้นที่-บริการ” ลดเสี่ยง “โควิด” ย้ำเปิดเรียนแบบไม่เตรียมพร้อม มีสิทธิแพร่ไม่รู้ตัว จี้แก้ “เรียนออนไลน์” ใน 2 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.แนะ 4 วิธีคิดปรับปรุงพื้นที่และบริการให้เสี่ยง “โควิด” ต่ำลง ย้ำโรงเรียนยังเป็นสถานที่เสี่ยงสูง หากไม่เตรียมพร้อม อาจระบาดได้โดยไม่รู้ตัว ชี้ เด็กอาการน้อย ไม่น่าห่วงเท่าครู พ่อแม่ ผู้สูงอายุ ที่เสี่ยงรุนแรง เผย 2 เดือนก่อนเปิดเรียนควรรีบถก “เรียนออนไลน์” ให้เด็กทุกคนเข้าถึงได้

วันนี้ (28 เม.ย.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ลดลง วันนี้เหลือเพียง 7 ราย เราถอยจากระยะแพร่ระบาดต่อเนื่องมาเป็นแพร่ในวงจำกัด ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่เคยมีการแพร่ระบาดจนถึงระยะวิกฤตมาก่อน คือ มีผู้ป่วยมากกว่าศักยภาพของโรงพยาบาลที่รองรับ สำหรับความเข้มข้นมาตรการต่างๆ จากนี้ก็คงพิจารณาเป็นรายพื้นที่ตามความเหมาะสม ส่วนเราจะต้องอยู่สถานการณ์แบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน ก็คือหาวัคซีนได้เร็วแค่ไหน หากจบสวยๆ คือ เราจัดหาวัคซีนได้ก่อนที่คนไทยจะติดเชื้อทั้งหมด หรือเกิดการติดเชื้อมากพอ แต่เราไม่อยากให้เกิดในแบบมีการติดเชื้อมากพอ เพราะเรามีศักยภาพโรงพยาบาลระดับหนึ่ง จึงต้องไม่ปล่อยให้โรคระบาดโดยอิสระ

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับการผ่อนปรนต่างๆ นั้น ว่าจะเปิดอะไรได้บ้างนั้น ขอให้ติดตามจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งทาง สธ.ก็มีการเสนอข้อมูลไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของกิจการแต่ละประเภทหรือสถานที่ต่างๆ จะพิจารณาจาก 1. โอกาสแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับปัจจัย 3 อย่าง ได้แก่ 1) ลักษณะการสัมผัส เช่น สัมผัสใกล้ชิดแค่ไหน หากยืนประจันหน้ากัน ระยะห่างไม่ถึง 1 เมตร ก็จะเสี่ยงสูง แต่หากเดินผิวเผินผ่านไปอย่างรวดเร็วก็เป็นเสี่ยงต่ำ ตะโกนเชียร์ใส่กันเป็นความเสี่ยงสูง หากอยู่เงียบๆ ไม่พูดคุยกันก็เสี่ยงต่ำ เป็นต้น 2) ระยะเวลาสัมผัส เช่น บริการสั้นๆ 5 นาที เป็นความเสี่ยงต่ำ อยู่รอรับบริการนานก็เป็นสถานที่เสี่ยงสูง และ 3) ความสามารถในการระบายอากาศ ถ้าระบายอากาศได้ดีเป็นพื้นที่เสี่ยงต่ำ เช่น สวนอาหาร สวนสาธารณะที่เปิดให้ลมโกรก หากปิดแคบ อับทึบ อากาศแทบไม่ระบายเลย เป็นความเสี่ยงสูง และ 2. เมื่อมีโอกาสแพร่ระบาด ผลกระทบจากแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคำนวณจากคนที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อ เช่น ผู้คนมากก็เสี่ยงสูง ผู้คนน้อยก็เสี่ยงต่ำ


นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า วิธีการปรับพื้นที่ให้มีความเสี่ยงต่ำลง มีวิธีการคิด 4 แบบ คือ 1. พยายามจัดสถานที่ หรือบริการให้มีระยะห่างพอสมควร ห่าง 1-2 เมตร 2. นำการออกแบบทางวิศวกรรมมาใช้ ในการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล เพื่อลดการแพร่โรค เช่น แผงทึบที่สูงพอสมควร ป้องกันละอองฝอยน้ำลาย การปรับระบบระบายอากาศ ตั้งพัดลมดูดอากาศ หรือเปิดหน้าต่างให้อากาศระบาย
3. การปรับปรุงระบบงาน มี 2 เรื่องที่ใช้มาก่อน คือ ตรวจวัดไข้ อาการไอ ก่อนเข้ารับบริการ หรือทำงานของพนักงาน และการเช็ดถูทำความสะอาดพื้นผิวที่ไปโดนบ่อยๆ เช่น ปุ่มลิฟต์ ลูกบิดประตู นอกจากนี้ ควรออกแบบระบบงานให้คนใช้เวลามารับบริการสั้นที่สุด จาก 10-15 นาที ทำอย่างไรให้สั้นลงที่สุดทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน การออกแบบระบบใหม่ โดยเอาเทคโนโลยีมาใช้ทำธุรกรรมจากที่บ้านได้ ตรงนี้เป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนา และ 4. การใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวส่วนบุคคล ใส่หน้ากากผ้าทั้งผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ โดยบางที่อาจสนับสนุนผู้ให้บริการใส่เฟซชิลด์ก็ช่วยป้องกันโรคได้มากขึ้น

“ไม่ว่าสถานที่ที่โดนปิดไปหรือยังเปิดได้อยู่ แต่ยังจำเป็นต้องปรับปรุง สามารถนำหลักคิดดังกล่าวไปคิดและปรับปรุงบริการหรือสถานที่ของตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของโรค จะเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ” นพ.ธนรักษ์ กล่าวและว่า สำหรับโรงเรียนถือว่าเสี่ยงค่อนข้างสูง เพราะเด็กมีการเล่นกัน กอดรัดฟัดเหวี่ยง มีโอกาสแพร่จากคนไปคนสูง ที่สำคัญคือ เด็กอาการน้อย ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในโรงเรียนได้ โดยครูอาจตรวจจับไม่ได้ ดังนั้น โรงเรียนเมื่อกลับมาเปิดก็อาจเกิดการระบาดขึ้นได้ ถ้าไม่ระมัดระวังเต็มที่ ที่น่าห่วงคือ เด็กอาการน้อยและไม่รุนแรง แต่หากติดครู พ่อแม่ และผู้สูงอายุที่บ้าน อาจมีอาการรุนแรงได้ สธ.และภาคการศึกษา ต้องมานั่งคุยจริงจังว่า จะเปิดโรงเรียนวันที่ 1 ก.ค. อย่างไรให้ปลอดภัย และ 2 เดือนนี้ต้องวางแผนการแก้ปัญหาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเรียนทางไกลหรือออนไลน์ เพื่อให้เด็กเข้าถึงได้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น