xs
xsm
sm
md
lg

ThaiFightCovid ชี้แอปติดตามตัวช่วยลดเสี่ยงติดโควิด -19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วงสัมมนาออนไลน์ ThaiFightCovid ชี้ แม้สถานการณ์คลี่คลายยังต้องรักษาระยะห่าง หวังประชาชนดาวน์โหลดแอปติดตามตัวเพื่อวิเคราะห์กลุ่มเสี่ยง ด้านปลัดดีอีเอสแจง เมื่อ New Normal เกิด เจ้าของสถานที่มีอำนาจในการให้ผู้เข้าใช้บริการดาวน์โหลดได้ เหตุรัฐไม่มีสิทธิ์บังคับ ขณะที่กรมควบคุมโรคชี้ ดิจิทัลช่วยแก้ปัญหาให้ธุรกิจขับเคลื่อนภายใต้มาตรการเว้นระยะห่างแม้ว่าจะมีการคลี่คลายมาตรการแล้วก็ตาม หวั่นวิกฤติกลับมาใหม่เหมือนสิงคโปร์-ญี่ปุ่น

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในงาน สัมมนาออนไลน์ “ThaiFightCovid Technical Forum Episode #3 : Relaxing the lockdown with Quarantine App” ว่า สิ่งที่ดีหลังเกิดโควิด-19 คือมีการพัฒนานวัตกรรมของคนไทยที่สามารถใช้งานกันเองในประเทศไทยได้ เช่น ห้องความดันลบ หุ่นยนต์ต่างๆ โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ติดตามตัว ที่มีออกมาให้เห็น ทั้งการติดตามตัวผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง และการแทรคหาซื้อหน้ากากอนามัย

แต่การติดตามผู้คนนั้น ก็ยังมีปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นว่าความจำเป็นคืออะไร รัฐบาลไม่สามารถบังคับทุกคนให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน คนมีสิทธิ์จะไม่ใช้ และหากไม่มีการดาวน์โหลดจำนวนมากพอก็จะไม่มีข้อมูลที่มีประโยชน์มากพอในการนำมาวิเคราะห์ หากอนาคตมีมาตรการผ่อนปรนแล้วการจะทำให้ประชาชนสนใจดาวน์โหลดนั้น จำเป็นต้องมีการบอกวัตถุประสงค์และประโยชน์ที่จะได้รับอย่างชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แม้ว่าจะยังไม่มีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค. 2563 นี้ เพราะเกิดเหตุโควิด-19 และก็ยังไม่มีความผิดในการระบุตามกฎหมายเพราะยังไม่มีกฎหมายลูก ซึ่งกระทรวงยังมีเวลาในการออกกฎหมายลูกภายใน 27 พ.ค. 2564 ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแอปพลิเคชันติดตามตัวโดยคนไทย ข้อมูลอยู่ในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก อนาคตกระทรวงดีอีเอส ต้องเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมแอปพลิเคชันแต่ละตัวเข้าด้วยกัน และมีการระบุให้ทุกคนใช้แอปพลิเคชันอะไรที่ปลอดภัย เช่น แอปพลิเคชัน หมอชนะ ที่กระทรวงรับรองว่าใช้งานได้ดี แต่ไม่สามารถบังคับได้ ทว่าต่อไป new moral จะเกิดขึ้น ส่วนตัวคิดว่าคนที่มีอำนาจในการให้ประชาชนดาวน์โหลดแอปพลิเคชันติดตามตัวไม่ใช่รัฐ แต่เป็นเจ้าของสถานที่ที่ประชาชนจะเข้าใช้บริการมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร เจ้าของพื้นที่ เพื่อให้คัดกรองกลุ่มคนและระบุความเสี่ยงได้ชัดเจน ในการใช้ชีวิตประจำวันรูปแบบใหม่นี้

ขณะที่นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธาณสุข (สธ.) กล่าวว่า การทำงานของกรมที่ยังไม่ราบรื่นนักคือการรายงานผลของผู้ติดเชื้อซึ่งยังใช้วิธีแบบปกติ เช่น เจ้าบ้านต้องรายงานว่าบ้านใครมีผู้ป่วยโควิด ซึ่งยังไม่มีระบบแอปพลิเคชันให้รายงานเข้ามาอย่างสะดวก รวมถึง สถานประกอบการ เช่น บริษัท โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ต้องรายงานก็ยังไม่มีระบบแบบออนไลน์เช่นกัน ทำให้การพัฒนาฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์และการวิเคราะห์แบบรวดเร็วทำได้ลำบาก

นอกจากนี้ความรอบรู้ของโรคในเชิงลึกก็ยังมีน้อย มีเพียงความรู้เบื้องต้น เท่านั้น เช่น ทำอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ แต่หากข้อมูลเชิงลึก ยังไม่มีใครรู้ เช่น ทำอย่างไรไม่ให้คนแก่ป่วย หรือ เวลารับของออนไลน์จะทำอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ การสื่อสารยังใช้วิธีการเก่า รายละเอียดไปถึงประชาชนทั่วไป แบบมีสติ และไม่กังวลจนเกินไป ยังมีน้อย

ทั้งนี้ แอปพลิเคชันติดตามตัวจะช่วยให้การสอบสวนโรคทำงานได้ง่ายขึ้น ได้รับรู้และสามารถแจ้งได้ว่าพื้นที่กลุ่มไหนเสี่ยง ใครไปที่ไหนบ้าง เป็นพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ ยกตัวอย่างประเทศ เกาหลีใต้ มีมาตรการที่ดีมาก เพราะรัฐบาลมีอำนาจในการติดตามเบอร์มือถือของทุกคนอยู่แล้ว โดยไม่ต้องให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เพราะเขาเคยเจอเหตุการณ์การระบาดโรคเมอร์สมาก่อน หากพบผู้ป่วยก็จะบอกว่าเขาไปที่ไหนมาบ้าง โดยไม่บอกชื่อ ทำให้เขาตีวงการตรวจผู้สัมผัสได้ง่ายขึ้น เพื่อกักกันตัวและติดตามอาการภายใน 14 วัน

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์คลี่คลายประชาชนก็ยังต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างและรักษาสุขอนามัยกันต่อไป ต้องลดการรวมตัว เว้นระยะห่าง ดูแลสุขลักษณะของตนเอง ทำงานที่บ้าน ตลอดจนเหลื่อมเวลาทำงาน และ การเรียนออนไลน์ รวมถึงการซื้อของออนไลน์ เหล่านี้จะมีความสำคัญต่อไปในอนาคต แต่ทว่ากิจการเล็กๆในต่างจังหวัดเล็กๆที่เข้าไม่ถึงดิจิทัล ก็ยังเป็นประเด็น รวมถึงการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ก็เป็นโจทย์ท้าทายว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหรือไม่

ดังนั้นทุกธุรกิจต้องปรับตัว การตั้งโต๊ะอาหาร ตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อลดความแออัด หากเราประมาทโควิดจะกลับมาอีกเหมือนญี่ปุ่น สิงคโปร์ ทุกอย่างเป็นความท้าทายทั้งในระยะสั้น กลาง และ ยาว แต่ดิจิทัลจะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาได้ ทำให้สามารถสร้างระยะห่างกันต่อไปโดยที่ต้องสามารถดำเนินธุรกิจกันได้ เชื่อว่าต้องมีทางสายกลาง โดยเฉพาะภาครัฐต้องเป็นตัวอย่างในการทำงานที่บ้าน 70% อย่าเพิ่งผ่อนคลายมาตรการ เราต้องมีการคิดค้นนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อมาใช้งานเพื่อลดความแออัดของผู้คนให้ได้ ขณะที่แอปพลิเคชันวัดไข้ด้วยไบโอเมทริกซ์แทนการกรอกของผู้วัดไข้เองก็เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจและแม่นยำมากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น