“กัลยา” เผย “กมธ.ดีอีเอส” ถก “ผู้ให้บริการมือถือ” รับมือวิกฤตโควิด19 “เศรษฐพงค์” แนะ บูรณาการสร้าง “Big data” ใช้วิเคราะห์ ติดตาม แจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ ของคนกลุ่มเสี่ยง ชี้ช่อง “แอปฯ” แต่ละค่ายเสริมข้อมูลเกาะติดวิกฤตไวรัสโควิด ระบุ เป็นโอกาสคนรุ่นใหม่สร้างธุรกิจ Start up ช่วยฝ่าวิกฤต พร้อมให้ปชช. ปรับตัว “เรียน-ทำงาน” ที่บ้านด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร มีวาระการพิจารณาเรื่องนโยบายและการสนับสนุนภาครัฐในวิกฤตไวรัสโควิด-19 โดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ประธานกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า กมธ.ดีอีเอส ได้เชิญตัวแทนบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมหารือ เช่น บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), เฟสบุค ประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาหารือถึงการรวมมือเพื่อแก้ไขและรับมือกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางกมธ.ดีอีเอส ได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้เรามีความหวังว่าจะผ่านวิกฤตนี้ได้โดยเร็ว
ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า การประชุมวันนี้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของวิกฤตไวรัสโควิด-19 และยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างเรียบร้อย ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละรายก็มีจุดดีจุดแข็งแตกต่างกันออกไป หากเราสามารถบูรณาการทำงานร่วมกัน ก็จะทำให้การรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ผ่านไปได้ด้วยดี และยังเกิดโอกาสใหม่ให้กับประชาชนคนไทยได้เรียนรู้ปรับตัวทั้งการทำงาน การเรียนให้เข้ากับสถานการณ์อีกด้วย ซึ่งกมธ.ดีอีเอส เห็นความสำคัญและศักยภาพของผู้ให้บริการจึงได้เชิญมาหารือกันในวันนี้ โดยทางกมธ.ดีอีเอส ได้เสนอแนวทางที่ผู้ให้บริการได้มีส่วนใช้เทคโนโลยีของตัวเองเข้ามาช่วยกัน เช่น บูรณาการร่วมกันสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big data สำหรับวิเคราะห์ แจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ เช่น การติดตามคนกลุ่มเสี่ยงผ่านเบอร์มือถือ เพื่อรายงานประวัติการเดินทางแบบเรียลไทม์ ว่าได้เดินทางไปในพื้นที่กลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หรือในกรณีบุคคลที่ถูกกักตัวก็สามารถติดตามดูได้ว่าเขาอยู่ในบ้านตัวหรือไม่ ในช่วงเวลากักตัว เพื่อที่จะได้แจ้งเตือนระวังป้องกันได้ทันท่วงที
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า กรรมาธิการฯ ยังได้กำชับผู้ให้บริการ ได้ตรวจสอบจุดปล่อยสัญญาณพื้นที่ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ปกติ หากพื้นที่ไหนเกิดชำรุด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เช่นโรงพยาบาล ก็ต้องแก้ไขโดยด่วน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งผ่านข้อมูลที่ต้องรวดเร็วถูกต้อง นอกจากนี้กรรมาธิการฯ ยังได้ฝากผู้ให้บริการได้คิดในการเปิดใช้ฟังก์ชั่นในแอปพลิเคชั่นของตัวเอง ที่ลูกค้าของแต่ละค่ายโหลดใช้อยู่แล้ว อยากให้เพิ่มหัวข้อเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 เข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร สถานการณ์ของโรค การแจ้งเตือนความเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้ประชาชนหรือลูกค้าของผู้ให้บริการรายนั้นๆ สามารถเช็คข้อมูลได้ทันที ซึ่งก็จะเป็นการช่วยทางภาครัฐอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งทางผู้ให้บริการก็ยินดีที่จะรับไปศึกษาเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป
“อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาก้าวไกลไปมากอย่างปัจจุบันนี้ ช่วงภาวะวิกฤตก็อาจเป็นโอกาสในทางที่ดีของคนรุ่นใหม่ที่คิดจะมีธุรกิจ Start up เป็นของตัวเอง จะได้แสดงฝีมือคิดนวัตกรรมแปลกใหม่ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตไวรัสโควิด-19 นี้ไปได้ และก็เป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้ปรับตัวในการเรียนที่บ้าน หรือทำงานที่บ้าน โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ใช้วิกฤตเพื่อการปรับตัวเองที่จะต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา ดังนั้นในภาวะวิกฤตก็อาจเป็นการสร้างให้เกิดโอกาสแก่ผู้ประกอบการออนไลน์รายเล็ก Startup โอกาสด้านการศึกษา ด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ในการที่จะต้องออกแบบกระบวนการการทำงานใหม่ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม ให้การเรียน การทำงาน สามารถปรับตัวเข้ากับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น วิกฤตโควิด-19 รวมไปถึงภัยพิบัติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว.