xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.เตรียมเลือก “ห้าง” และกิจการตัวอย่าง ทดลองเปิด 14-15 พ.ค.หากผ่านประเมิน คลายล็อกเฟสสอง 17 พ.ค.แน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค.แจงคลายล็อกเฟสสอง อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น เตรียมหากลุ่มตัวอย่าง เช่น ห้างสรรพสินค้า ทดลองเปิดก่อนวันที่ 14-15 พ.ค. หากทำได้ดี ผ่านเกณฑ์ จะประกาศปลดล็อกวันที่ 17 พ.ค.ตามกำหนด เผย ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ทำแล้ว 4 จังหวัด กทม. ภูเก็ต ยะลา กระบี่ อัตราพบรวม 0.5% ยันไม่ต้องตรวจโควิดแม่ค้าขายอาหาร ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สำคัญคือป้องกันตนเองมากกว่าตรวจเชื้อ

วันนี้ (9 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงกระบวนการคลายล็อกกิจการเฟสสองวันที่ 17 พ.ค. ว่า ตามกรอบเวลาจะมีกระบวนการรับฟังความเห็น วันที่ 8-12 พ.ค. จากนั้นวันที่ 13 พ.ค. จะประเมินผลระยะที่ 1 ก่อน เพื่อรวบรวมชุดข้อมูลซักซ้อมความเข้าใจ วันที่ 14-15 พ.ค. จะยกร่างข้อกำหนดใหม่เพื่อไปสู่ระยะที่ 2 โดยที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ก็มีการยกร่างขึ้นมาว่า จะหากลุ่มตัวอย่างทดลองเปิดระยะที่ 2 เช่น ห้างสรรพสินค้า จะหาพื้นที่หนึ่งทดลองเปิด ว่ามาตรการในห้างเป็นอย่างไร ประชาชนเข้ามาปฏิบัติอย่างไร มีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง เพื่อศึกษาให้ดีวันที่ 14-15 พ.ค.นี้ แล้วประเมินผลวันที่ 16 พ.ค. หากผ่านวันที่ 17 พ.ค.ก็จะประกาศระยะที่ 2 อย่างไรก็ตาม รายละเอียดต่างๆ ถ้ามีความชัดเจนและเสร็จเรียบร้อยจะแจ้งให้ประชาชนทราบ เพื่อเตรียมตัว เข้าใจข้อกำหนด และให้ความร่วมมือ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผลการตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก ดำเนินการตรวจ 4 จังหวัด คือ กทม. 3,581 ราย เจอ 1 ราย ยะลา 3,277 ราย เจอ 20 ราย ภูเก็ต 2,552 ราย เจอ 26 ราย และ กระบี่ 477 ราย พบ 3 ราย อัตราการตรวจเจอรวมอยู่ที่ 0.5%

เมื่อถามถึงกรณีตลาดนัดจตุจักรจะเปิดบริการแล้ว เป็นตลาดขนาดใหญ่ คนใช้บริการจำนวนมาก นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มาตรการที่ต้องปฏิบัติ และรัฐจะเข้าไปดำเนินการตรวจกิจการต่างๆ นั้น มี 3 ระดับ คือ 1. มาตรการหลัก ตรวจโดยศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคง (ศปม.) 5 ข้อ ได้แก่ ทำความสะอาดพื้นผิว สวมหน้ากาก มีจุดล้างมือ เว้นระยะห่าง และอย่าให้แออัด โดยเป็นการออกสุ่มตรวจส่วนกลาง และทั่วประเทศ 2. มาตรการเสริมเฉพาะกิจการกิจกรรม เช่น ร้านตัดผม ต้องมีคัดกรองวัดไข้ ใส่หน้ากากและเฟซชิลด์ เปลี่ยนผ้าคลุมตัดผมทุกคน มีการระบายอากาศ มีแอปพลิเคชันติดตาม เป็นต้น เป็นการตรวจตรวจย่อยๆ ในรายละเอียด โดย ศปม.จังหวัด อำเภอ หรือตำบลที่แต่งตั้งโดยจังหวัด และ 3. ระดับคู่มือปฏิบัติที่ออกมา เช่น คู่มือของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถ้าหากทำตาม 3 ระดับนี้ปลอดเชื้อปลอดภัย ไปก็ไม่ติดโรค ในฐานะประชาชน ถ้าไปแล้วให้ยึด 5 ข้อหลัก ใส่หน้ากากไหม เว้นระยะห่างไหม มีจุดล้างมือไหม ทำความสะอาดพื้นผิว เช็กดูด้วยสายตา เป็นหน่วยตรวจสอบเพิ่มเติม หากทำ 5 ข้อนี้ก็มั่นใจได้ หรือพูดคุยเจ้าของกิจการโดยตรง ส่วนบางร้านยืนออแออัดก็ไม่ต้องเข้า

เมื่อถามถึงการตรวจโควิดพ่อค้าแม่ค้าในตลาด เพื่อมั่นใจว่า คนประกอบอาหาร ขายอาหารไม่มีเชื้อโควิด นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับแม่ค้าไม่ได้เป็นอาชีพกลุ่มเสี่ยงใดๆ แต่ก็มีความเสี่ยงถ้าไปสถานที่แออัด สถานที่คนเคยติดเชื้อมาก่อน สิ่งสำคัญคืออยู่ในมาตรการหลัก 5 ข้อให้ได้ แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องตรวจ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ คนขับรถสาธาณะ เป็นต้น แต่หากขายของพูดคุยใส่หน้ากาก สวมถุงมือถ้าเป็นไปได้ สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผมยิ่งดี ป้องกันเศษผมลงอาหาร อย่างไรก็ตาม การตรวจวันนี้แม้ปลอดภัย แต่พออิสระเสรีอาจติดเชื้อในวันหลังตรวจก็ได้ ดังนั้น การตรวจไม่ใช่เรื่องใหญ่ การป้องกันคือสิ่งสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น