xs
xsm
sm
md
lg

จ่อคลายล็อก รพ.เปิด “ห้องผ่าตัด-ทันตกรรม” หลังเลื่อนนัดมานาน แต่ต้องคัดกรองเข้ม เล็งปรับ รพ.สู่การแพทย์วิถีใหม่ ลดแออัดจากวิกฤตโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.จ่อคลายล็อก รพ. เปิด “ห้องผ่าตัด-ทันตกรรม หลังเลื่อนนัดไปนานจากวิกฤตโควิด จนคนไข้อั้นจำนวนมาก เผยต้องแยกห้องผ่าตัดความดันลบ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่แน่ใจ ส่วนที่คัดกรองปลอดเชื้อใช้ห้องปกติได้ ส่วนคลินิกความงามให้รอก่อน เล็งพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ปรับระบบการแพทย์วิถีใหม่ ลดแออัด

วันนี้ (20 เม.ย.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลรองรับมาตรการคลายล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจมีผู้ป่วยกลับมาใช้บริการในสถานพยาบาล ว่า ที่ผ่านมา เรามีการเลื่อนนัดผู้ป่วยกันไปนาน 1-2 เดือน ไม่ได้มา รพ.เลย ทำให้คนไข้หลายคนอั้นมานาน กลัวว่า คนจะมาด้วยอาการหนักๆ หรือต้องการมา รพ. ก็ต้องมีการยกระดับเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อใน รพ. โดยจะเน้นเรื่องการใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วย สถานพยาบาลก็พยายามผ่อนคลาย โดยแบ่งกลุ่มดูแลคนไข้โรคเรื้อรังจะแบ่งเป็น 1. กลุ่มคนไข้สีเขียว ที่ควบคุมอาการได้ดี จะให้เจาะแล็บใกล้บ้าน พูดคุยกับหมอผ่านวิดีโอคอล ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว อย่างสถาบันประสาทวิทยา ลงทะเบียนไปพันกว่าราย เริ่มดำเนินการแล้ว 100 กว่าราย ซึ่งช่วยลดการแพร่เชื้อ ลดแออัด คนไข้กับคนไข้ไม่แพร่เชื้อกันเอง และประหยัดค่าเดินทาง ซึ่งอาการดีอยู่แล้วก็ไม่ได้อยากมาอยู่แล้ว

2. คนไข้สีเหลือง จะวิดีโอคอลคุยกันก่อนว่ามีอาการตรงไหนที่น่าเป็นห่วงมากไหม ก็อาจมีการส่งทีม ซึ่งก็อาจไม่ได้ต้องการถึงขั้นหมอ เพราะบางคนเป็นโรคเรื้อรัง เป็นผู้พิการ ก็ส่งทีมกายภาพบำบัด ต่างจังหวัดก็มี อสม. นักบริบาลชุมชนไปดูแล ถ้าต้องการเจอหมอจริง ก็จะให้มาในช่วงที่ไม่แออัด

3. คนไข้ฉุกเฉินสีแดง ตอนนี้ รพ.ใหญ่ๆ ห้องฉุกเฉินจะมีการคัดกรองผู้ป่วยและจัดสถานที่แยกสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ไม่แน่ใจ เช่น เกิดอุบัติเหตุแล้วมีไข้มาด้วย ก็จะแยกเข้าห้องความดันลบในการดูแลกลุ่มนี้ ตรงนี้เป็นความพยายามพลิกวิกฤตจากโรคโควิด-19 ให้เป็นโอกาส ในการจัดระเบียบใหม่ ที่เรียกว่า เป็นการแพทย์วิถีใหม่ที่จะดูแลผู้ป่วย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องของห้องผ่าตัด จะมีการแบ่งทีมกัน ไม่มีการข้ามทีมกัน ถ้าทีมไหนเสี่ยงติดก็เสี่ยงไปทีมเดียว การกักตัวก็กักแค่ทีมเดียว ไม่ปะปนกับทีมอื่น ก็จะปลอดภัยขึ้น และกำหนดห้องผ่าตัดหนึ่งไว้เป็นห้องความดันลบ ผ่าตัดในคนที่ไม่แน่ใจอาการเสี่ยงโควิด ส่วนห้องอื่นๆ จะเก็บไว้ผ่าตัดคนผ่านการคัดกรองแล้ว เช่น เคสนัดมะเร็งที่นัดผ่าตัดเอาก้อนออก อาจนัดมาก่อน 3-4 วัน เพื่อตรวจยืนยันเชื้อก่อน ถ้ามั่นใจก็เข้าห้องตามปกติได้

“การเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลต่างๆ นี้ โดยวันที่ 21 เม.ย.จะมีการนำเรื่องนี้หารือกับคณะกรรมการชุด นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ด้วย ซึ่งคาดว่า สิ้นเดือน เม.ย.จะเห็นภาพออกมา อย่างห้องผ่าตัดรูปแบบจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกัน เช่น 9 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยเลยอาจจะแบบหนึ่ง ดำเนินการคล้ายเดิมไปก่อนได้ ห้องผ่าตัดอาจจะไม่ถึงอย่างที่บอก แต่สุดท้ายก็ต้องเดินไปสู่รูปแบบใหม่นี้เช่นกัน เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีโอกาสรับการแพร่เชื้อตรงนี้หรือไม่” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยมะเร็งนั้น เรามีการนัดแนะว่า ถ้ารักษาอยู่ รพ. ไม่ให้ไป รพ.เดิม แต่ไป รพ.มะเร็งของกรมการแพทย์ที่อยู่ใกล้เคียง อย่างชลบุรี คนไข้ที่รับเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา ก็ไม่ต้อง รพ.ชลบุรี ที่มีการรับคนไข้ทั่วไป แต่ให้ไป รพ.มะเร็งชลบุรี เพื่อลดความเสี่ยง หรืออย่าง กทม.ก็ให้ส่งมาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นต้น เพราะคนไข้ที่รับเคมีบำบัด ถ้ารับเชื้อเข้าไปมีโอกาสป่วยรุนแรงมาก เพราะภูมิต้านทานไม่ดี

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีทันตกรรม เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนสนใจให้มีการเปิดให้บริการ จะผ่อนคลายอย่างไร ซึ่งจากการหารือกับกลุ่มทันตแพทย์ ซึ่งระบุว่า การทำฟันมีความเสี่ยง เพราะมีการฟุ้งของน้ำลาย ดังนั้น การจะเปิดบริการทั้งในส่วนของ รพ. และคลินิกต้องสวมหน้ากาก N95 สวมกระจังหน้า (Face Shield) และก่อนให้บริการต้องมีการคัดกรองอย่างเข้มข้น ทั้งวัดไข้ และซักประวัติอย่างละเอียด แต่จะมีการคุยเรื่องการคัดกรองเข้มข้นอีกครั้งจะสรุปใน 1-2 สัปดาห์นี้ ส่วนกรณีคลินิกความงามต่างๆ อาจจะต้องดูตามจังหวัดสีเขียว สีแดง สีเหลือง อย่าง กทม. สถาบันโรคผิวหนังคงยังไม่เปิดตรงนี้เร็ว หากเปิดก็อาจจะต้องเข้มงวดมาก หากเป็นจังหวัดสีเขียวจะเปิดก่อนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ต้องมีการคัดกรองเช่นกัน แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน มีความจำเป็นน้อย อาจจะรอไปก่อนได้


กำลังโหลดความคิดเห็น