“กรมการแพทย์” ออกมาเผยข้อมูลสำคัญว่า ผู้ที่ป่วยไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางผิวหนัง เช่น มีผื่นแดง จุดเลือดออก ผื่นบวมแดงคล้ายโรคลมพิษ ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าวพร้อมกับเป็นไข้ควรรีบไปพบแพทย์
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. เพจ “กรมการแพทย์” ได้โพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับกรณีไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความผิดปกติทางผิวหนังกับผู้ป่วยบางรายได้ ซึ่งทางเพจ ได้อธิบายว่า “กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับความผิดปกติทางผิวหนังที่สัมพันธ์กับอาการของโรคโควิด-19 และวิธีการสังเกตความผิดปกติทางผิวหนังที่มีโอกาสเป็นโรคโควิด-19 ได้
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด-19 และในสื่อออนไลน์ประชาชนได้มีการแชร์ข้อมูล และมีประเด็นถกเถียงกันเกี่ยวกับความผิดปกติทางผิวหนัง เป็นอาการใหม่ของโรคโควิด-19 จากข้อสงสัยดังกล่าว มีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากต่างประเทศ เช่น อิตาลี สหรัฐอเมริกา และในประเทศไทยเองพบว่า ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางผิวหนังร่วมด้วย ได้แก่ มีผื่นแดง (คันบางราย) จุดเลือดออก ผื่นบวมแดงคล้ายโรคลมพิษ กลุ่มของตุ่มน้ำคล้ายโรคอีสุกอีใส และการอักเสบของผิวหนังที่เกิดจากการหดและขยายตัวของหลอดเลือด
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส และการติดเชื้อไวรัสสามารถทำให้เกิดความผิดปกติทางผิวหนังได้ โดยในผู้ป่วย 100 คน จะพบผู้ป่วย 20 คน ที่มีผื่นผิดปกติทางผิวหนังด้วย โดยพบว่าในคนไข้โควิด-19 ที่มีอาการทางผิวหนังร้อยละ 40 จะมีอาการพร้อมๆ กับอาการไข้หรือไอ ตั้งแต่พบว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 และร้อยละ 60 จะมีความผิดปกติทางผิวหนังปรากฏในภายหลัง นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ยังมีอาการทางผิวหนังจากสาเหตุอื่นๆ ได้ เช่น การแพ้ยาหรือการใช้ยาบางชนิดในการรักษาซึ่งอาจจะส่งผลให้ผิวหนังจะมีลักษณะคล้ำขึ้นได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาการแสดงทางผิวหนังไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของการติดเชื้อโควิด-19
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำว่า หากประชาชนมีอาการผิดปกติทางผิวหนัง ร่วมกับอาการไข้ ไอ หรืออาการทางระบบหายใจอื่นๆ ควรรีบมาพบแพทย์ และในส่วนของแพทย์ผู้ทำการรักษา เมื่อพบผู้ป่วยที่มีไข้ ไอ มีผื่น ในระยะนี้ก็ให้ประเมินความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนาในการวินิจฉัยแยกโรคของผู้ป่วยรายนั้นๆ ไว้ด้วย”