แพทย์แนะเคล็ดลับดูแล “”ผู้สูงอายุ" ในบ้าน ห่างไกลเชื้อโควิด-19 ยึดหลัก 5 อ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย เอนกายพักผ่อน ออกห่างสังคมนอกบ้าน ชี้กลุ่มติดสังคมต้องลดออกจากบ้าน กลุ่มติดบ้านติดเตียง ยิ่งต้องระวัง คัดกรองเข้มคนดูแลใกล้ชิด ต้องไม่มีไข้ ล้างมือก่อนสัมผัส ห่วงคนแก่อาการป่วยโควิดไม่ชัด ต้องสังเกตอาการอื่นร่ว
วันนี้ (20 เม.ย.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กลุ่มอายุที่ป่วยโรคโควิด-19 มากที่สุด คือ อายุ 21-39 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน แต่กลุ่มที่มีอัตราการป่วยและเสียชีวิตสูง คือ กลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุ 70 ปีขึ้นไปอัตราป่วยเสียชีวิตสูงถึง 12% การป้องกันการติดเชื้อพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ทำได้โดย 1. การป้องกันการติดเชื้อ และ 2. ป้องกันการถดถอยร่างกายและสมอง จากการอยู่บ้านนานๆ สามารถทำได้โดยยึดหลัก 5 อ คือ 1. อาหาร ต้องครบ 5 หมู่ เน้นโปรตีนมากขึ้น 2. อารมณ์ อย่าให้เครียด หรือถ้าเครียดให้มีคนรู้ใจคอยให้ระบาย ติดตามข่าวสารแต่พอสมควร อย่าใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากเกินไป หากิจกรรมที่ตัวเองชอบ 3. ออกกำลังกายภายในบ้าน เช่น โยคะ แกว่งแขน เดินซอยเท้ากับที่ 4. เอนกายพักผ่อน ที่พอเหมาะพอควร 7-9 ชั่วโมง และ 5. ออกห่างสังคมนอกบ้าน ถ้าไม่จำเป็นอย่าออกจากบ้าน ถ้าออกต้องเว้นระยะห่างทางกายได้เหมาะสม เตรียมหน้ากากผ้า และพกเจลแอลกอฮอล์ติดไว้ล้างมือ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ผู้สูงอายุแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ 1. ช่วยเหลือตนเองได้ดี แม้สภาพร่างกายดูเหมือนปกติ แต่พลังสำรองร่างกายน้อยกว่าวัยอื่น จึงมีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มวัยอื่น จึงขอให้อยู่บ้านมากขึ้น 2. กลุ่มติดบ้าน แม้จะดูค่อนข้างปลอดภัย เพราะออกจากบ้านน้อย แต่ต้องระวังตัว เพราะคนในครอบครัวอาจนำเชื้อจากข้างนอกมาติด ดังนั้น กลับจากทำงานหรือข้างนอก ควรอาบน้ำก่อนมีปฏิสัมพันธ์ และ 3. กลุ่มติดเตียง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การดูแลที่บ้าน คนดูแลใกล้ชิดเฉพาะต้องระวังตัวจากการติดเชื้อ ยิ่งมีการเปลี่ยนกะการดูแลต้องยิ่งให้มั่นใจ โดยเฉพาะหากเป็นการจ้าง ต้องถามบริษัท มีการกักตัวดูแลหรือไม่ ต้องขอให้วัดไข้ ล้างมือ ฟอกสบู่ให้เรียบร้อยก่อนมาดูแล ส่วนตามสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ค่อนข้างปลอดภัย แต่ต้องคัดกรองคนมาเยี่ยมและบุคลากรที่ดูแล ต้องดูไข้ ดูประวัติ ล้างมือก่อนสัมผัสตัวผู้สูงอายุทุกครั้ง หากมีผู้สูงอายุสงสัยติดเชื้อต้องแยกห้องทันที
“ผู้สูงอายุมากๆ ภูมิต้านทานจะไม่ดี บางทีอาการจะไม่ชัดตรงไปตรงมาเหมือนวัยอื่นๆ อาจจะไม่มีไข้ ตัวไม่ร้อน ไอไม่ชัด บอกไม่ได้ว่าเจ็บคอ จึงควรสังเกตอาการ หายใจเร็วไหม บางคนอาจหายใจไม่เร็ว ต้องดูอ่อนเพลียไหม กินข้าวน้อยลงไหม เบื่ออาหารไหม อารมณ์เปลี่ยนแปลง ความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไหม หากมีต้องไปดูว่าคนดูแลใกล้ชิดมีอาการอะไรไหม” นพ.สมศักดิ์ กล่าว