เจอผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 45 ราย เป็นกลุ่มกักตัวหลังกลับจากนอก 9 ราย ระบุเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ป่วยสะสม 2,518 ราย เสียชีวิตรวม 35 ราย รักษาหายรวม 1,135 ราย เผย กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดยังติดต่อกันสูง มาจากครอบครัวสูงสุด 56% ส่วนใหญ่เป็นสามีภรรยา กลุ่มสถานที่ทำงาน 23% กิจกรรมรวมกลุ่ม 18% ย้ำ สงกรานต์ต้องเลี่ยงมารวมตัวสังสรรค์ แจงไม่มีหมกเม็ดตัวเลขผู้ป่วยไปรวมไข้หวัดใหญ่ เหตุไข้หวัดใหญ่ก็ป่วยลดลงจากที่คาดเช่นกัน จากมาตรการป้องกัน
วันนี้ (11 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวประจำวัน ว่า วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 45 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ผู้ป่วยสะสมรวม 2,518 ราย กระจายใน 68 จังหวัด รักษาหาย 1,135 ราย เสียชีวิตรวม 35 ราย ผู็เสียชีวิต ได้แก่ 1. ผู้ป่วยชายไทย อายุ 46 ปี ทำหน้าที่ในโรงรับจำนำ มีโรคอ้วน และอาศัยอยู่กับแม่และน้องสวที่ป่วยโรคโควิด-19 เริ่มมีอาการไข้สูง 39 องศาเซลเซียสและไอ เข้ารับการรักษา รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. มาวันที่ 1 เม.ย. แพทย์ส่งตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ให้ผลลบ ให้ยาต้านไวรัสและส่งตรวจโควิด-19 โดยพบว่ามีเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. โดยวันที่ 9 เม.ย.มีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต
2. ผู้ป่วยชายไทยอายุ 65 ปี อาชีพพนักงานทำความสะอาดใน กทม. เริ่มป่วยวันที่ 11 มี.ค. ด้วยอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก อ่อนเพลีย วันที่ 19 มี.ค.กลับบ้าน จ.พะเยา และไปเข้ารับการรักษาวันที่ 24 มี.ค.ใน รพ.แห่งหนึ่ง จ.พะเยา ส่งตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ให้ผลลบ และมาส่งตรวจโควิด-19 ก็ได้ผลยืนยัน วันที่ 27 มี.ค. โดยมีอาการหนักขึ้น วันที่ 28 มี.ค. เหนื่อยหอบมากขึ้น แพทย์ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตวันที่ 10 เม.ย.
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ 45 คน แบ่งเป็น 1. ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 36 คน ได้แก่ กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 23 ราย กลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 9 ราย คือ คนต่างชาติเดินทางเข้ามา 1 ราย คนไทยกลับจากต่างประเทศ 2 ราย คือ จากอังกฤษ ไปสถานที่ชุมชน 3 ราย อาชีพเสี่ยง 1 ราย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 2 ราย และกลุ่มอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 4 ราย และ 2. ผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ 9 ราย ได้แก่ กลับมาจากอินโดนีเซียที่สงขลา 8 ราย และกลับจากสหรัฐฯ ที่ กทม. 1 ราย นี่คือ ความสำคัญที่้ต้องเน้นย้ำว่า ทำไมคนไทยกลับมาจากต่างประเทศต้องรับการดูแลเป็นพิเศษ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์จำนวนผู้ป่วยวันที่ 4-10 เม.ย. พบผู้ป่วย 495 ราย พบว่า 144 ราย เป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันเคสก่อน คิดเป็น 29% กลุ่มใหญ่สุด คือ 1. ครอบครัว 81 ราย หรือ 56% โดยคนป่วยที่ใกล้ชิดมากสุด คือ สามีภรรยา 35 ราย บิดามารดา 20 ราย ญาติอื่นๆ อาศัยร่วมบ้าน 17 ราย บุตร 9 ราย 2.กลุ่มสถานที่ทำงาน 33 ราย หรือ 23% เป็นเพื่อนร่วมงาน 22 ราย โดยเป็นพนักงานบริษัท 27% ผู้บังคับบัญชา 6 ราย ผู้มารับบริการติดต่อประสานงาน 5 ราย 3. กิจกรรมรวมกลุ่ม 26 ราย 18% คือ การพบปะเพื่อน/คนรู้จัก ส่วนใหญ่รับประทานอาหารดื่มเครื่องดื่มร่วมกัน ดังนั้น ช่วงสงกรานต์นี้จะมีการกลับไปอยู่ที่บ้านนั่งพูดคุยกัน ดื่มกันตรงนี้มีโอกาสติดโรคได้ทันที และ 4. กลุ่มอื่นๆ 4 ราย 3% เช่น สัมผัสร่วมยานพาหนะ 2 ราย สัมผัสในชุมชน 2 ราย
“ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ที่บอกว่าน้อย เอาไปใส่ในกลุ่มผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ในส่วนของตัวเลขผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่นั้น จากเดิมโรคไข้หวัดใหญ่เราคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยสูงในช่วงต้นปี และลดลงมา แต่ปรากฏว่า เดือน ม.ค.มีผู้ป่วยสูงจริง แต่ ก.พ. มี.ค. ผู้ป่วยลดลงมาก เพราะได้รับอานิสงส์จากการป้องกันจากโรคโควิด-19 ด้วย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว