สธ.เตือนตัวเลขผู้ป่วยโควิดรายใหม่ต่ำร้อย อย่าเพิ่งตีปีกดีใจ ทำตัวตามสบาย ยังต้องเข้มมาตรการต่อเนื่อง ทำคนป่วยน้อยลงที่สุด ยันรุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ 2009 เหตุหวัดใหญ่ 2009 ไม่เคยต้องล็อกดาวน์ แต่ โควิด-19 มีการปิดบ้านปิดเมือง ทุกประเทศเหยียบเบรกชะลอการระบาด ให้ รพ.รองรับผู้ป่วยได้ ย้ำ มาตรการคุมโควิด-19 ช่วยลดไข้หวัดใหญ่ได้
วันนี้ (10 เม.ย.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ ที่ต่ำกว่า 100 คน ว่า แม้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ในไทยจำลดลงต่ำกว่า 100 ราย แต่ไม่ใช่เวลาที่จะมาตีปีกผ่อนคลาย ตัวเลขตอนนี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เราต้องลดจำนวนผู้ป่วยลงให้น้อยที่สุด มาตรการหลายๆ อย่างจึงต้องทำอย่างเข้มข้นเช่นเดิม เราต้องเข้มข้นเรื่องการค้นหาผู้ป่วย ผู้สัมผัสให้เร็ว ประชาชนต้องเข้มงวดเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม ระยะห่างระหว่างบุคคล สิ่งที่เราต้องการ คือ การทำให้ผู้ป่วยลดน้อยที่สุด การจะบอกว่าพื้นที่ใดปัญหาลดลงแล้วต้องไม่มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เลย 14 วันติดต่อกัน นับตั้งแต่วันที่เจอผู้ป่วยรายสุดท้าย ถ้าพบผู้ป่วยรายใหม่ก็ต้องเริ่มนับใหม่
“ฉะนั้น อย่าทำตัวสบาย เพราะโรคนี้ระบาดเร็ว พลาดแค่ครั้ง 2 ครั้ง ก็ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ได้ อย่าลืมเหตุการณ์ที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ และ สนามมวย ที่เมื่อพลาดแล้วทำให้แพร่ไปได้ถึง 70-80 คน ในเวลาอันสั้น และขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังประเมินสถานการณ์ หากเริ่มดีขึ้นจะผ่อนคลายอะไรได้บ้าง แต่ขอให้ใจเย็นๆ วันนี้ต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคนออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นไม่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ภาคใต้ นอกจากการแพร่ระบาดของโรค ยังมีสถานการณ์ที่มีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ทำให้โรงพยาบาลในพื้นที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทุกคนจึงควรร่วมมือกัน เราไม่อยากให้ภาระงานในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้เยอะกว่านี้ อย่างสตูลที่เป็นจังหวัดเล็ก ก็มีผู้ป่วยขึ้นมาจำนวนมากจากการที่มีการกลับมาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีคนไทยในต่างประเทศที่รอกลับเข้ามายังประเทศไทย ก็ขอให้เข้าใจในสถานการณ์ในการที่รัฐจะค่อยๆ ทยอยให้เข้ามาในประเทศด้วย
เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 กับโรคโควิด-19 รุนแรงต่างกันหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ต่างกันมาก โดยโควิด-19 อาการรุนแรงกว่า หลายๆ ประเทศคุมไม่ได้ อย่างอิตาลี และถ้าดูย้อนหลังการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ไม่เคยมีประเทศไหนต้องปิดบ้านปิดเมือง แต่ตอนนี้ปิดบ้านปิดเมืองเพื่อชะลอการแพร่ของโรค เพราะถ้าปล่อยให้ระบาดได้อย่างอิสระ ระบบสาธารณสุขก็ไม่พอที่จะรองรับ ตอนนี้ทุกประเทศเหยียบเบรกกันหมด ไม่สามารถทนปล่อยสถานการณ์ไปโดยไม่มีมาตรการควบคุม เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ต้องมานั่งเลือกว่าจะรักษาใคร หรือจะปล่อยให้ใครเสียชีวิตได้ ถ้าดูรายงานผู้ป่วยอาการหนักใน กทม.เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา อัตราการครองเตียงไอ.ซี.ยู.เกินครึ่งจากที่มีอยู่แล้ว ขนาดยังไม่ได้ระบาดเต็มที่ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถปล่อยให้โรคนี้ระบาดตามใจได้ ดังนั้น ที่เคยมีการวิเคราะห์กันไว้ตอนแรกว่า เลวร้ายไม่เกินไขหวัดใหญ่ 2009 ก็บอกได้ว่าไม่จริง
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา ช่วงเวลานี้ประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ปีนี้ต้องดำเนินการเร็วขึ้น หรือเปลี่ยนเกณฑ์การฉีดให้ครอบคลุมคนไทยมากขึ้นหรือไม่ เพื่อไม่ให้ 2 โรคมาเจอกัน นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจะทำให้เราวินิจฉัยโรคโควิด-19 ยาก เพราะซับซ้อนขึ้น เราอยากฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดก่อนเข้าฤดูฝน แต่ก็ต้องรอบริษัทวัคซีนส่งให้ ส่งมาเมื่อไรเราก็ฉีดเมื่อนั้น แต่จริงๆ มาตรการที่เราแนะนำให้คนไทยสวมหน้ากาก และเว้นระยะห่างทางสังคม จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดตามฤดูกาลด้วย เพราะหลักการแพร่โรคเป็นแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราฉีดวัคซีนปีละ 4 ล้านโดส แต่ถ้าคนไทย 60 ล้านคนสวมหน้ากาก ทำมาตรการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ก็จะป้องกันโรคได้มาก เป็นโซเชียลวัคซีน (Social Vaccine)