xs
xsm
sm
md
lg

จ่อค้นหาผู้ป่วย “โควิด” เชิงรุกใน กทม.เร่งวิเคราะห์พื้นที่ผู้ป่วยกระจุกตัวสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค จ่อใช้มาตรการค้นหาผู้ป่วยโควิดเชิงรุกใน กทม.แบบ “ภูเก็ต” เร่งวิเคราะห์ข้อมูล ขีดเส้นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยสูงใน กทม. ก่อนปูพรมตรวจทั้งคนที่มีอาการและไม่มีอาการ มีการติดเชื้อในพื้นที่หรือไม่ พร้อมเล็งตั้งจุดเฝ้าระวัง เป็นเรดาร์สุ่มตรวจผู้ป่วยลดลงจริงหรือไม่ 

วันนี้ (8 เม.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ว่า นับตั้งแต่วันนี้ระบบรายงานผู้ป่วยโควิด-19 จะแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มติดเชื้อภายในประเทศ และ 2. กลุ่มที่มาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ปล่อยให้มีการเดินทางเอง แต่ทุกคนจะต้องเข้าสู่ระบบการกักตัว 14 วัน ในสถานที่ที่รัฐจัดหาให้ หากป่วยก็นำเข้าการรักษา ถือเป็นมาตรการลดความเสี่ยงนำเชื้อเข้าประเทศ เพราะคนมีอาการป่วยก็ถูกแยกเข้า รพ. ส่วนคนไม่ป่วยก็ถูกกักตัวในที่กำหนดไม่แพร่ต่อผู้อื่น ถ้าทำได้จริงจังผู้ป่วยกลุ่มนี้จะค่อยๆ ลดลง สำหรับพื้นที่ที่รัฐเตรียมไว้กักตัว ขณะนี้มี 1,883 ห้อง แบ่งเป็นสถานที่ของรัฐ 136 ห้อง คือ โรงเรียนการบินกำแพงแสน จ.นครปฐม จำนวน 36 ห้อง มีผู้เข้าพักแล้ว 75 คน และอาคารรับรองที่สัตหีบ 100 ห้อง เข้าไปกักตัวแล้ว 283 คน และสถานที่ของเอกชน มีห้อง 1,747 ห้อง เข้าไปกักตัวแล้ว 307 คน หมายความว่า ยังเหลือห้องไว้รองรับ 1,400 กว่าห้อง รองรับการกักตัวคนที่กลับมาจากต่างประเทศ 14 วัน 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ติดเชื้อในประเทศ ก็เหมือนจะดีขึ้น กทม.ก็มีแนวโน้มลดลง ส่วนในภูมิภาคมีความสัมพันธ์กับการเดินทางจากกลุ่มสถานบันเทิง สนามมวย และตอนมีมาตรการปิดสถานที่ใน กทม. อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่ต้องควบคุมโรคเข้มข้นขึ้น คือ จ.ภูเก็ต ที่มีการกำหนดพื้นที่ Super Red Zone คือ ซอยบางลา อ.ป่าตอง ซึ่งเป็นสถานที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก มีสถานบันเทิงจำนวนมาก และแม้จะมีการปิดสถานที่แล้วตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. แต่ผู้ป่วยก็ยังเพิ่มขึ้นจากระยะเวลาฟักตัวของโรค 14 วัน จึงขยายนิยามการสอบสวนโรค โดยมีมาตรการระบบค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Actice Case Finding) โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจเชื้อมากกว่า 1,500 ตัวอย่างในคนที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ทำให้นำมาสู่การพบคนติดเชื้อ โดยผลการตรวจด้วยมาตรการเชิงรุกจะออกมาเพิ่มขึ้นเรื่อย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า มาตรการนี้อาจจะต้องดำเนินการในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก เช่น พื้นที่ กทม. ที่อาจต้องมีการดำเนินการมาตรการดังกล่าวแบบภูเก็ต โดยจะต้องมีการขีดเส้นพื้นที่ให้ชัด ว่า พื้นที่ไหนที่ควรดำเนินการ ซึ่งจะพิจารณาจากการนำตัวเลขผู้ป่วยที่พบแล้วมาพล็อตว่าพื้นที่ไหนใน กทม.ที่มีการกระจุกตัวของผู้ป่วยสูง แต่ใน กทม.อาจทำได้ยากกว่า เพราะมีการเคลื่อนย้ายของประชากร หมายถึงมีการติดเชื้อที่หนึ่ง แต่ที่อยู่ของผู้ป่วยอาจอยู่อีกที่หนึ่ง ดังนั้น จึงต้องนำข้อมูลทั้ง 2 ส่วนมาพิจารณาร่วมกันแล้วค่อยกำหนดพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การทำมาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ต้องดำเนินการควบคุมโรคก่อน คือ เมื่อกำหนดพื้นที่ที่จะทำมาตรการนี้แล้ว จะต้องมีการกักตัวบุคคลในพื้นที่ไม่ให้เดินทางออกไปข้างนอก แล้วค่อยทำการเก็บตัวอย่างส่งตรวจแล็บ เพราะหากเจอคนที่มีเชื้อ แต่การปล่อยให้ออกไปข้างนกได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะมีโอกาสแพร่เชื้อได้

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่จะตรวจแบบเชิงรุก จะปูพรมตรวจในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงกลางๆ เพราะกลุ่มเสี่ยงสูงก็เข้าระบบในการเฝ้าระวังอยู่แล้ว เราก็จะกวาดคนกลุ่มเสี่ยงกลางๆ มาทั้งหมด ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม เพื่อตรวจว่ามีคนมีเชื้ออยู่ในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะเป็นการตัดวงจรแพร่ระบาดได้ เพราะเมื่อพบผู้ป่วยก็จะไปค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และแยกกักดูอาการ เชื่อว่าหากทำเช่นนี้เต็มที่ 28 วันหรือน้อยสุด 14 วัน สถานการณ์จะดีขึ้น ถ้าการ์ดยังไม่ตกเสียก่อน อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะทำให้พื้นที่ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ไม่ได้ปูพรมตรวจใน กทม.ทั้งหมด เพราะการตรวจเชิงรุกในพื้นที่มีผู้ป่วยสูงอัตราเจอติดเชื้อประมาณ 6% แต่หากปูพรมตรวจทั้งหมด 100 คน อาจเจอแค่ 1 คน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ใน กทม.อาจจะมีมาตรการวางจุดเฝ้าระวัง (Surveillance) ด้วย เพื่อสุ่มตรวจคนทั่วๆ ไปในบริเวณนั้นด้วยว่า มีหรือไม่มีเชื้อ เช่น สุ่มตรวจ 100 คน หากพบคนติดเชื้อน้อยก็อาจหมายถึงเราสามารถควบคุมโรคได้ดี มีผู้ป่วยลดน้อยลง เปรียบเสมือนเป็นเรดาร์เพื่อดูข้อมูลว่าทำมาตรการแล้วผู้ป่วยลดจริงหรือไม่ ซึ่งมาตรการนี้สามารถเลือกทำได้ตามความเหมาะสม เช่น ทำในเชิงพื้นที่ในพื้นที่ที่สงสัยว่ามีผู้ป่วย หรือทำในลักาณะกลุ่มคน ทำไมคนกลุ่มนี้ตรวจพบน้อย หรือในแง่ของช่วงเวลาทำไมช่วงนี้น่าจะมีถึงไม่มี ซึ่งจะเป็นการสุ่มตรวจเพื่อพิสูจน์ แต่มาตรการนี้ไม่ใช่มาตรการในการควบคุมโรคที่จะต้องทำตลอดเวลา


กำลังโหลดความคิดเห็น