xs
xsm
sm
md
lg

คาดโควิด-19 กระทบสถานประกอบการ 3.5 หมื่นแห่ง ลูกจ้าง 5-6 แสนราย จ่อชงงบพัน ล.เข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสวัสดิการฯ คาด มีสถานประกอบการหยุดจากโควิด-19 กว่า 3.5 หมื่นแห่ง ลูกจ้างกระทบ 5-6 แสนราย ชงงบกลางพันล้าน เติมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กรณีนายจ้างไม่จ่ายชดเชยเลิกจ้าง แจงทำงานบ้านลดค่าจ้างลงทำได้หากกระทบต่อธุรกิจ เช่น ออเดอร์ลดลง แต่หากไม่ได้รับความเสียหายต้องจ่ายเต็ม 

วันนี้ (23 มี.ค.) นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการดูแลลูกจ้างที่สถานประกอบกิจการถูกสั่งปิดชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่โรคโควิด-19 ว่า กรณีรัฐสั่งให้ปิดสถานประกอบกิจการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะต้องมาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานประกอบกิจการไหนที่อยากจะจ่ายชดเชยเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างของตนเองก็ทำได้ ตรงนี้แล้วแต่แนวคิดของสถานประกอบกิจการ ไม่มีกฎหมายมาบังคับได้

เมื่อถามว่า สถานประกอบกิจการที่รัฐไม่ได้สั่งให้ปิด แต่สั่งให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านพร้อมลดค่าจ้าง โดยกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการดูแลจากประกันสังคม นายอภิญญา กล่าวว่า ถ้าสถานประกอบกิจการไม่ได้ถูกคำสั่งให้ปิด แต่เขาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ทำให้ออเดอร์ลดลง จนต้องใช้มาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แล้วจ่ายค่าจ้าง 75% ของเงินเดือน ตรงนี้ก็มีกฎหมายให้ทำได้อยู่ ส่วนบางสถานประกอบกิจการที่ไม่ได้รับความเสียหายอะไร แต่สั่งให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านแล้วมาขอลดเงินค่าจ้างนั้น เรื่องนี้นายจ้าง ลูกจ้างต้องพูดคุยกัน เพราะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องจ่ายเต็ม และจริงๆ สถานประกอบกิจการน่าจะมีต้นทุนลดลงด้วยซ้ำ เพราะค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าต่างๆ ไม่ต้องจ่าย อย่างไรก็ตาม ถ้าคุยกันแล้วตกลงกันไม่ได้ ก็แจ้งมาที่ กสร. ให้มาพูดคุย ทำความเข้าใจ

เมื่อถามว่า ลูกจ้างในระบบเริ่มเห็นมาตรการช่วยเหลือจากประกันสังคม แต่มีบางกลุ่มที่ไม่ได้เข้าประกันสังคม จะช่วยเหลืออย่างไร นายอภิญญา กล่าวว่า ถ้าเป็นแรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการ คิดว่า น่าจะอยู่ในระบบทั้งหมด ถ้ายังมีใครที่ถูกจ้างในสถานประกอบกิจการแล้วไม่แจ้งเข้าระบบประกันสังคม แบบนี้จะถือว่ามีความผิดที่ไม่แจ้ง ส่วนแรงงานที่เป็นแรงงานนอกระบบจริงๆ เนื่องจากไม่มีนายจ้างก็ต้องยอมรับว่าไม่สามารถตามไปถึงตรงนั้น บางส่วนเข้าเป็นผู้ประกันตนเองตามมาตรา 40 นั้น ตอนนี้ก็ยังได้รับสิทธิได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้ถ้าเจ็บป่วยต้องนอน รพ. แต่กรณีการขาดรายได้จากการว่างงานอื่นๆ นั้นยังไม่มี 

“สถานการณ์การระบาดตั้งแต่ตอนต้น มีลูกจ้างและสถานประกิจการได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ สถานประกอบการที่อยู่ในข่ายที่ต้องหยุดทั้งประเทศตัวเลขไม่น่าจะต่ำกว่า 3.5 หมื่นแห่ง ผู้ประกันตนประมาณ 5-6 แสนคน ทาง กสร. ด้วยอำนาจหน้าที่ที่ต้องคุ้มครองสิทธิลูกจ้าง อาจจะมีสถานประกอบการบางส่วนที่เลิกจ้างลูกจ้างไป เพราะปัญหาต่างๆ รวมถึงเรื่องโรคโควิด-19 ด้วย ก็ห่วงว่า นายจ้างจะมีเงินจ่ายชดเชยให้ลูกจ้างได้หรือไม่ ซึ่งปกติจะมีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีที่นายจ้างไม่มีเงินจ่ายชดเชย ลูกจ้างจะต้องมาขอการเยียวยานั้น ขณะนี้กองทุนมีอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เรากังวลว่าจะมีลูกจ้างมาขอใช้สิทธิมากขึ้นแล้วเงินกองทุนจะไม่พอ จึงเตรียมของงบกลางเพิ่ม ประมาณ 1 พันล้านบาท โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 24 มี.ค.นี้” นายอภิญญา กล่าว

นายอภิญญา กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การขอ จะเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างแล้วไม่จ่ายชดเชย หลังจากพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จ่ายแล้ว และคำสั่งถึงที่สุดแต่นายจ้างไม่จ่ายลูกจ้างก็มีสิทธิมายื่นคำร้องที่พนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานจะส่งรายงานมาให้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างพิจารณาความเดือดร้อน ส่วนจำนวนเงินที่ได้รับจากการสงเคราะห์เป็นไปตามสัดส่วนที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ คงไม่ได้เต็มจำนวนทั้งเดือน กรณีจะครอบคลุมการถูกเลิกจ้างทุกกรณีแต่ไม่ได้รับการชดเชย รายละเอียดสามารถดูได้ที่เว็บไซต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น