ปี 62 สถานประกอบการปิดตัว 1,017 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 67% ลูกจ้างได้รับผลกระทบร้องเรียนให้จ่ายค่าชดเชยถึง 7,703 คน เพิ่มขึ้น 37% เผยช่วงเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมาปิดกิจการแล้ว 365 แห่ง ลูกจ้างรับผลกระทบ 2,870 คน ย้ำยังไม่ใช่ตัวเลขเลิกจ้างทั้งหมด แต่เชื่อปี 63 สถานการณ์ดีขึ้น หลังการค้าจีน-มะกันชัดเจนขึ้น อังกฤษปรกาศชัดออกจากอียู เหลือปัญหาเงินบาทแข็งตัว
วันนี้ (24 ธ.ค.) นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์ลูกจ้างยื่นคำร้องต่อ กสร.ใหช่วยเหลือ จากกรณีถูกายจ้างเลิกจ้าง ว่า จากการตรวจสอบตัวเลขลูกจ้างมายื่นคำร้องให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมาย ในปีงบประมาณ 2561 พบว่า มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 607 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบและมายื่นหนังสือร้องเรียน 5,619 คน ส่วนปีงบประมาณ 2562 มีสถานประกอบการเลิกกิจการ 1,017 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7,703 คน เมื่อเทียบแล้วพบว่าปี 2562 มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 67.55 ลูกจ้างได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.09 หากเทียบตั้งแต่ ต.ค. - ธ.ค. 2561 พบว่า มีสถานประกอบการปิดกิจการ 296 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,101 คน ส่วน ต.ค. - ธ.ค. 2562 มีสถานประกอบการเลิกกิจการไปแล้ว 365 แห่ง มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2,870 คน อย่างไรก็ตาม จำนวนนี้ยังไม่นับรวม 2 กรณีที่เพิ่งมีการเลิกจ้างล่าสุด คือ โรงกลึงที่จังหวัดชลบุรี ที่มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 63 ราย และบริษัทที่กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีลูกจ้างได้รับผลกระทบเกือบพันคน
นายอภิญญา กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่ตัวเลขสถานประกอบการปิดกิจการทั้งหมด และไม่ใช่ตัวเลขลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ยังมีปัญหาไม่ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายจึงมาร้องต่อ กสร.ช่วยเหลือเท่านั้น ส่วนตัวเลขการปิดกิจการ การถูกเลิกจ้างจริงๆ นั้นจะอยู่ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งจะมีอยู่ 3 ก้อน คือ 1.กรณีถูกเลิกจ้าง 2.กรณีสมัครใจลาออก และ 3.กรณีสิ้นสุดสัญญาจ้าง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้ ได้มีการประเมินว่า เป็นการขยับอยู่ที่ร้อยละ 1 - 1.2 แต่ในช่วงหลังจะเห็นว่ามีการเลิกจ้างค่อนข้างถี่ แต่ถ้าดูดีๆ แล้วเมื่อมีการเลิกจ้าง มีการปิดกิจการ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีการเปิดกิจการ และมีการจ้างงานเพิ่มเช่นเดียวกัน โดยพบว่า จำนวนผู้มีงานทำและเข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคมก็เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยแต่ก็ยังเพิ่มขึ้น
"สำหรับสถานการณ์ในปี 2563 เชื่อว่าน่าจะดีขึ้น เนื่องจากเรารู้อยู่แล้วว่าที่ผ่านมาการปิดกิจการการเลิกจ้างมีปัญหามาจากเรื่องของสงครามการค้า เรื่องค่าเงินบาทแข็ง ความไม่ชัดเจนการตกลงทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงความไม่แน่นอนของอังกฤษว่า จะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ซึ่งวันนี้มีความชัดเจนแล้วในหลายเรื่อง สถานการณ์การเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐก็มีข้อตกลงกันได้ระดับหนึ่ง ขณะที่อังกฤษหลังจากที่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็ชัดเจนว่าออกจากสหภาพยุโรปแน่นอน ดังนั้น 2 เรื่องนี้คลี่คลายแล้ว แต่ยังเหลือปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามจะแก้ไขรวมถึง การยกระดับสินค้าของไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เพราะสินค้าของเราราคาแพง แต่ก็ต้องมั่นใจว่าคุณภาพของเราดีเพื่อเอาไปสู้ตรงนี้ได้ อย่างไรก็ตามกสร.และกระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีการหารือ และจับตา เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด" นายอภิญญากล่าว