กรมสวัสดิการฯ เร่งตรวจสอบโรงงานย่านอ้อมน้อย ปิดกิจการจริง หรือแค่เลิกจ้าง ทำลายสหภาพแรงงาน แนะลูกจ้างสงสัยยื่นเรื่อง กก.แรงงานสัมพันธ์ได้ ชี้ประกาศเลิกกิจการ แล้วตั้งใหม่ในงานประเภทเดียวกัน ทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือ เป็นจริยธรรมผู้บริหารที่ไม่ควรทำ เป็นแบบอย่างไม่ดี
จากกรณีกระแสข่าวสถานประกอบการปิดกิจการ เลิกจ้างแรงงานหลายแห่งพร้อมกันช่วงท้ายปี จากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ บางแห่งไม่จ่ายเงินค่าชดเชย และผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้ยุบสหภาพแรงงานออกไป จึงสอบถามถึงมาตรการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ (25 ธ.ค.) นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน แถลงข่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า กสร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดูแล เช่น ชี้แจงสิทธิของลูกจ้างที่ควรได้รับ รับคำร้องจากลูกจ้าง อย่างบริษัทแห่งหนึ่งที่ชลบุรี เลิกจ้าง 63 คน มี 13 คน ได้รับเงินชดเชยไปแล้ว อีก 50 คนยังไม่ได้ เพราะมีอายุงานเยอะ ยอดเงินชดเชยสูง นายจ้างจึงยังมีปัญหาในการจ่ายเงิน พนักงานตรวจแรงงานก็อยู่ระหว่างพิจารณาคำร้องของแรงงานให้เสร็จภายใน 45 วัน แต่ตนได้สั่งการให้ดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อลดความเดือดร้อนของลูกจ้าง ส่วนบริษัท มิซูโนพลาสติก ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ลูกจ้างยื่นคำร้องว่านายจ้างปฏิบัติไม่เป็นธรรม ทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในขั้นตอนการวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ส่วนบริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เลิกจ้างพนักงาน 997 คน จากการตรวจสอบพบว่าลูกจ้างได้รับเงินชดเชยแล้ว 229 คน ส่วนที่เหลือบริษัทจะโอนเงินเข้าบัญชีภายในวันที่ 26 ธ.ค.นี้
นายอภิญญา กล่าวว่า ส่วนกรณีที่พนักงานส่วนใหญ่สงสัยการปิดกิจการว่า มีปัญหาจนต้องปิดกิจการจริงๆ หรือเพียงแค่จะเลิกจ้างหรือไม่ เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบ รวมทั้งตรวจสอบในส่วนงานที่ยังมีการดำเนินการอยู่ว่า เป็นของบริษัทนี้ หรือของบริษัทอื่นมาเช่าพื้นที่ผลิต รวมถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีคนมองว่าเป็นการใช้โอกาสนี้ในการทำลายสหภาพแรงงานจริงหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลา หากลูกจ้างยังสงสัยสามารถยื่นต่อกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ โดยทางเราจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ต้องเดินทางมาที่ส่วนกลางก็ได้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นบริษัทดังกล่าวไม่มีการผลิตสินค้าในรายการที่สหรัฐฯ จะตัดจีเอสพีไทยแต่อย่างใด
“เรื่องแรงงานสัมพันธ์ ปัจจุบันนี้นายจ้างมีความรู้และเข้าใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม คนที่ประกอบกิจการค้ามานาน มาประกาศเลิกแล้วไปตั้งกิจการใหม่ในประเภทเดียวกันนั้นค่อนข้างจะทำให้ภาพลักษณ์ของผู้บริหาร ชื่อเสียงที่ทำมาไม่ได้รับความเชื่อถือ เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย แต่ในข้อกฎหมายไม่มีกำหนดว่าปิดแล้วไปเปิดใหม่จะผิดอย่างไร นี่เป็นเรื่องจรรยาบรรณ จริยธรรมของผู้บริหารมากกว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำของผู้ประกอบการ เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี” อธิบดีกสร.กล่าว
นายอภิญญา กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การเลิกจ้าง และด้านแรงงานสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน ปีงบประมาณ 2561 มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 607 แห่ง ลูกจ้างรับผลกระทบและมายื่นหนังสือร้องเรียนกับ กสร. 5,619 คน ปีงบฯ 2562 สถานประกอบกิจการเลิกกิจการ 1,017 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7,703 คน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พบว่าในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมามีผู้เข้าสู่ระบบประกันสังคม 71,917 ส่วนผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง 27,859 คน จะเห็นว่าตัวเลขเข้าสู่ระบบใหม่สูงกว่านั่นแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการเลิกจ้าง ก็มีการจ้างงานเพิ่ม เมื่อมีการปิดกิจการ ก็มีการเปิดกิจการเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ประมาณต้น ก.พ.2563 พ.ร.บ.งบประมาณจะมีการประกาศใช้ ทำให้งบที่จะออกมาสู่ระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะมีผล ดังนั้นเรายังมองในแง่ที่ว่าเศรษฐกิจปีหน้า อาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เวลาร้ายสุดก็คงเท่าปี 2562 ฉะนั้นปี 2563 จะชะลอตัว แต่อัตราการเพิ่มไม่มากแต่อยู่ในระดับที่ดีกว่าปีนี้