สภาองค์การลูกจ้างฯ เชื่อโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์กระทุ่มแบนปิดกิจการ ไม่น่าเกี่ยวล้างไพ่ ล้มสหภาพแรงงาน ชี้เปิดกิจการใหม่ก็ต้องเกิดสหภาพใหม่อยู่ดี แต่เป็นไปได้รับคนอายุน้อยเข้ามาใหม่ เพราะเซฟค่าใช้จ่ายหลายส่วน ย้ำธุรกิจไหนไม่เอาสหภาพไปไม่รอดแน่ ต้องบริหารแรงงานสัมพันธ์ แนะ รบ.อย่ามัวแต่คิดการเมือง ต้องดึงคนเออร์ลีถูกเลิกจ้างฝึกทักษะ ป้อนเข้าระบบอีอีซีที่มีงานรองรับ
วันนี้ (24 ธ.ค.) นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีสถานประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ย่านกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ปิดกิจการเลิกจ้างลูกจ้าง แต่มีกระแสว่าเปิดกิจการใหม่ รับสมัครคนงานเดิมอายุต่ำกว่า 50 ปี แต่จะต้องนับอายุงานใหม่ เพื่อล้มล้างสหภาพแรงงาน ว่า ตนมองอย่างกลางๆ เพราะเรื่องของสหภาพแรงงานก็ไม่ใช่เรื่องที่โหดร้ายสำหรับนายจ้าง การที่นายจ้างจะปิดกิจการเพื่อเอาเศรษฐกิจบังหน้าแล้วยุบสหภาพก็ค่อนข้างจะยาก เพราะเรื่องสิทธิสหภาพแรงงานค่อนข้างสูงตามกฎหมาย โอกาสนายจ้างจะเสี่ยงก็ยาก มองว่าอาจเป็นเพราะสภาวะเศรษฐกิจ อย่างเรื่องชิ้นส่วนยานยนต์หลายส่วนตอนนี้ไม่โหดร้ายเท่าปิดโรงงาน แต่ใช้สมัครเข้าร่วมโครงการลาออกหรือเออร์ลี จ่ายค่าชดเชยมากกว่ากฎหมายแรงงาน รวมถึงใช้ระบบตัวแทนในการเจรจา
"ไม่น่าจะเป็นเรื่องการทำลายสหภาพ เพราะว่าเรื่องสหภาพแรงงาน ประเทศไทยมีมานานแล้ว บางสถานประกอบการใช้สหภาพเป็นประโยชน์ในเรื่องของการเจรจต่อรอง กรณีธุรกิจออเดอร์ไม่มี น่าจะเป็นตรงนี้มากกว่า ส่วนของกระทุ่มแบนที่ปิดกิจการ ก็มีการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ส่วนเรื่องของการเปิดโรงงานใหม่ รับคนใหม่อายุน้อย จึงมองว่าเป็นการล้มสหภาพนั้น อยากให้มองว่า เมื่อรับคนใหม่แล้วสหภาพตามระบบสากลมันก็เกิดขึ้นได้อีก จึงมองว่าอาจจะเป็นเรื่องอายุงานมากกว่า เรื่องล้างไพ่เอาคนใหม่จบใหม่มาทำงาน ค่าแรงถูกกว่า สวัสดิการอาจลดน้อยลงได้ แต่แน่นอนว่าเมื่อคุณทำไม่ดีก็ต้องเกิดสหภาพใหม่ได้อยู่ดี" นายมนัส กล่าว
นายมนัส กล่าวว่า เรื่องสหภาพแรงงานยังยืนยันว่าจำเป็นต้องมี เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบมาตรฐานแรงงานหรือระบบสากลมันคู่กันไประหว่างทุนกับสหภาพ ต้องพัฒนาว่าองค์กรของเราจะเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีได้อย่างไร เป็นเรื่องของแรงงานสัมพันธ์ ถ้าปฏิเสธเมื่อไรธุรกิจก็คงไปไม่รอด จึงมองว่าการล้างไพ่สหภาพนั้นไม่ได้น่าเป็นห่วง ที่น่าห่วงคือรัฐบาลพยายามพูดว่าเปิดโซนอีอีซีมีตำแหน่งงานว่าง 5 แสนกว่าอัตรา ทำไมไม่ต่อท่อคนที่กำลังเออร์ลี ถูกเลิกจ้าง ไปฝึกเพิ่มทักษะ ธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอีอีซี ตอนนี้รัฐบาลก็รู้แล้วว่าอุตสาหกรรมในจะไปลงบ้าง อิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า อุปกรณ์ต่างๆ ต้องเอาคนอายุงานน้อยๆ ไปต่อยอดทักษะ สามารถจพไหลดข้าไปในกระบอกนี้ได้ แต่รัฐบาลไม่คิด คิดแต่เรื่องการเมืองก็เลยเกิดปัญหา
เมื่อถามว่าสถานการณ์เลิกจ้างในปี 63 น่ากังวลหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง นายมนัส กล่าวว่า บอกได้เลยว่าโรงงานไหนใช้มาตรา 75 ถ้าออเดอร์ไตรมาสแรกของปี 63 ไม่เข้ามา กลุ่มนี้จะถูกเลิกจ้างได้ รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับว่ากลุ่มนี้ไปไหน ต้องมองว่าจะเปลี่ยนเรื่องหุ่นยนต์เข้ามา รัฐบาลต้องตั้งรับ กลุ่มที่เลิกจ้างจะต่อยอดไปยังอีอีซีอย่างไร