โฆษกอนุ กมธ.คลัง เสนอไอเดีย งดเว้นเงินประกันตน 6 เดือน โดยด่วน ชี้ลดแค่ร้อยละ 5 เหลือ 4 แทบไม่ช่วย ย้ำเพื่อเยียวยาลูกจ้างรับผลกระทบสั่งปิดสถานที่ กทม.- ปริมณฑล
วันนี้ (22 มี.ค.) นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกคณะอนุ กมธ.ติดตามระบบการเงิน การคลัง และระบบเศรษฐกิจ สภาผู้เเทนราษฎร กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา คณะอนุ กมธ. ได้จับตาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการนำประเด็นนี้มาหารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อคิดหามาตรการช่วยเหลือเช่นกัน ทั้งนี้ ประเด็นที่ กทม.และ ปริมณฑล สั่งปิดสถานที่ต่างๆ เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันนี้นั้น ตนคิดว่า เป็นมาตรการที่จำเป็นในการระงับการระบาดของโรคไม่ให้บานปลาย เเต่เหรียญมีสองด้านเสมอ เช่นเดียวกับมาตรการดังกล่าวเราต้องยอมรับว่ากระทบกับสังคมในวงกว้าง หลายคนตื่นตระหนก สับสน โดยเฉพาะลูกจ้างรายวันที่นายจ้างไม่ได้ส่งเงินประกันสังคมซึ่งมีอยู่จำนวนมาก จะได้รับกระทบอย่างหนัก ขาดรายได้อย่างกะทันหัน เพราะนอกจากจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนประกันสังคมแล้ว ยังไม่อยู่ในข่ายได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอีกด้วย เพราะเป็นการปิดกิจการตามคำสั่งทางราชการ และที่สำคัญ แรงงานเหล่านี้ต่างเคยอยู่ได้ด้วยค่าโอทีล่วงเวลา พนักงานเสิร์ฟอาหารเคยได้ค่าทิป บัดนี้ไม่มีแล้วก็จะดำรงชีวิตลำบาก
“มาตรการหนึ่งน่าจะเป็นไปได้ และทำโดยด่วนได้ในวันนี้ ก็คือ การหาแนวทางช่วยให้ลูกจ้าง ไม่ต้องส่งเงินค่าประกันตนไปเลย 6 เดือน เพราะมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ที่บอร์ดเพิ่งมีมติกำหนดแนวทางต่างๆ ออกมา เช่น ลดการส่งเงินประกันตนลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 4 นั้น ถือว่าน้อยมากๆ เป็นเพียงการลดภาระลูกจ้างแค่หลักสิบหลักร้อยบาทเท่านั้น ซึ่งมันไม่มีทางเพียงพอกับสถานการณ์ ณ ขณะนี้เเน่นอน” นายอิสระ กล่าว