กรมสวัสดิการฯ ขู่ "ลูกจ้าง" ไม่ยอมกักตัวเฝ้าระวัง 14 วัน หลังกลับจากประเทศเสี่ยงโควิด-19 ตามคำสั่งนายจ้าง มีสิทธิไม่จ่ายค่าแรงได้ ซ้ำผิด กม.โรคติดต่อด้วย แต่หากกักตัวยังได้รับค่าแรง เพราะถือเป็นการลาป่วย เผยธุรกิจท่องเที่ยวซบเซา ใช้ ม.75 ปิดกิจการชั่วคราว จ่าย 75% ค่าจ้าง
วันนี้ (27 ก.พ.) นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า ก.แรงงานเองก็ขอความร่วมมือบุคลากรให้ชะลอการเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังไม่ได้มีการออกคำสั่งอย่างเป็นทางการ และคาดว่าจะมีการประกาศมาตรการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดในกลุ่มบุคลากรเร็วๆ นี้
นายอภิญญา กล่าวว่า สำหรับกรณี สธ.ขอให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาดหยุดเฝ้าระวังอาการตัวเอง 14 วันขณะนี้มีบริษัท สถานประกอบการ สอบถามเข้ามาเยอะ ว่ากรณีนี้จะถือเป็นวันหยุดแล้วไม่จ่ายค่าแรงได้หรือไม่ ซึ่ง กสร. มองว่าเป็นเรื่องที่เข้าข่ายว่าเป็นความเสี่ยง ต้องเฝ้าระวังอาการ 14 วัน จะถือว่าภาวะอย่างนี้ลูกจ้างอยู่ในสถานะป่วย สามารถใช้สิทธิลาป่วยและมีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงเวลานี้ หรือบริษัทบางแห่งอาจจะให้เป็นการใช้สิทธิลาพักร้อนได้ หากต้องใช้เวลามากกว่านี้ก็ยังถือเป็นการลาป่วยเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามภาวะของโรค มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีลูกจ้างที่ต้องเฝ้าดูอาการ 14 วัน แต่ไม่ทำตาม ยังออกไปข้างนอก ไปเที่ยว มีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือไม่ นายอภิญญา กล่าวว่า เมื่อสถานประกอบการอนุญาตให้ลูกจ้างหยุดเฝ้าระวังอาการที่บ้าน ตามคำแนะนำของ สธ.แล้ว ลูกจ้างก็ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ในความเป็นจริงสถานประกอบการอาจจะไม่รู้ว่าลูกจ้างทำตามหรือไม่ ออกไปเที่ยวที่ต่างๆ มาหรือไม่ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคุณไม่มีเชื้อ แล้วถ้าเมื่อไรที่เกิดแสดงอาการและแพร่เชื้อต่อ นายจ้างมีสิทธิใช้เรื่องนี้ถือว่าลูกจ้างขาดงาน และมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างให้ได้ และตนทราบว่าถ้าการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย มีผลบังคับใช้แล้ว จะถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานมีโทษตามกฎหมายนั้นอีก
นายอภิญญา กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการ ลูกจ้างโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ตอนนี้ได้สั่งการไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดคอยดูแล ให้คำปรึกษา ซึ่งในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับรายงานว่ามีสถานประกอบการจำนวนหนึ่งมีการใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในการปิดสถานประกอบกิจการชั่วคราว และจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง 75% ของเงินเดือน