สธ.เผยพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย เป็นคนไทยทำหน้าที่ไกด์ท่องเที่ยวที่เกาหลีใต้ ติดตาม 2 ผู้สัมผัสใกล้ชิดแล้ว และกำลังติดตามเพื่อนร่วมทัวร์ คนบนเครื่องบิน ส่วนกลุ่มสัมผัสปู่ย่าหลานอีก 4 รายผลเป็นลบ ติดตามต่อเนื่อง 14 วัน เผยรักษาหายเพิ่มอีก 1 ราย ทำให้มียอดป่วยสะสม 41 ราย รักษาหาย 28 ราย ส่วน 2 ผู้ป่วยอาการหนักไม่พบการติดเชื้อแล้ว แต่ยังต้องดูแลใกล้ชิด เพราะมีโรคอื่นร่วม ย้ำคนกลับจากประเทศเสี่ยง ยังขอความร่วมมือกักตัว 14 วัน ลดกิจกรรมทางสังคม
วันนี้ (28 ก.พ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่าสถานการณ์ทั่วโลก 50 ประเทศ มีผู้ป่วยยืนยัน 82,794 ราย เสียชีวิต 2,817 ราย สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 25 ปี อาชีพไกด์นำเที่ยวมีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศเกาหลีใต้ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในวันที่ 24 ก.พ. 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเป็นบวก โดยขณะนี้รับรักษาตัวไว้ที่สถาบันบำราศนราดูร ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด 2 คน ที่เหลือคือเพื่อนร่วมทัวร์ คนบนเครื่องบิน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษา อยู่ระหว่างการติดตาม ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสม 41 ราย
นพ.สุขุมกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ข่าวดีคือมีผู้รักษาหายเพิ่มอีก 1 ราย คือ ชายชาวจีน อายุ 30 ปี จากสถาบันโรคทรวงอก ส่งผลให้รักษาหายรวมทั้งหมด 28 ราย ยังอยู่ใน รพ.อีก 13 ราย นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาการหนัก 2 ราย ที่สถาบันบำราศนราดูร ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อแล้ว อยู่ระหว่างการดูแลรักษาเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว โดยขณะนี้ประะเทศไทยหลุดจากท็อปเทนจำนวนผู้ป่วยยืนยันแล้ว โดยไทยมีจำนวนผู้ป่วยลงมาอยู่อันดับที่ 12 ของโลก สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรครวมทั้งหมด 2,437 ราย โดยวันที่ 27 ก.พ.มีเพิ่มประมาณ 373 ราย
นพ.สุขุมกล่าวว่า คำแนะนำปฏิบัติตัวเรื่องการแยกตัว กักตัว และคุมตัวไว้เฝ้าระวัง ขอทำความเข้าใจว่า 1. ผู้เข้าข่ายสอบสวนโรค มีอาการประวัติเสี่ยงจึงต้องแยกกัก 2. ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต่อการรับเชื้อ แต่ไม่มีอาการ เช่น สัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้สงสัยว่าป่วยในครัวเรือน ร่วมชั้นเรียน ร่วมงาน หรือร่วมยานพาหนะ บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใส่เครื่องป้องกันตามมาตรฐาน จำเป็นต้องกักกันตนเองที่บ้าน 14 วัน ไม่คลุกคลีผู้อื่น งดไปทำงาน โรงเรียน แยกของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น 3. กลุ่มไม่สัมผัสผู้ป่วย แต่มีเสี่ยง คือ ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโรค แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วย ขอความร่วมมือให้ลดกิจกรรมทางสังคม สังเกตอาการที่บ้าน หรือที่พักเฝ้าระวังตนเอง 14 วัน หลีกเลี่ยงการไปที่สาธารณะที่มีคนหนาแน่นโดยไม่จำเป็น หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที และ 4. ผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกับผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป ยังเน้นย้ำเรื่องกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหากไปในที่มีคนอยู่มาก
“คนมาจากพื้นที่ระบาด ทุกคนไม่ใช่ผู้ป่วย หรือผู้ที่รับไว้สังเกตอาการก็ยังไม่ใช่ผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคน ขออย่ารังเกียจ อย่าตีตรา อย่าล้อเลียนผู้ป่วย ขอให้กำลังใจให้หายป่วย ผู้ที่อยู่ในระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคแล้ว ความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้คนรอบข้างและสังคมน้อย ซึ่งการดูถูกล้อเลียนจะทำให้ไม่กล้าแสดงตัว ซึ่งคน 1 คนที่ปกปิดหรือไม่มาแสดงตัวและหากติดเชื้อจริง ก็อาจทำให้กลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ได้” นพ.สุขุมกล่าว
เมื่อถามถึงอาการของผู้ป่วยรุนแรงยังวิกฤตอยู่หรือไม่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยอาการหนักยังอยู่ห้องแยกโรคความดันลบ อาการคงที่ ไม่ได้แย่ลง ไม่ได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่การตรวจไม่มีเชื้อทางเดินหายใจแล้ว ยังคงใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ เนื่องจากรายหนึ่งมีอายุ 70 ปี และมีวัณโรคร่วม ส่วนอีกรายเป็นไข้เลือดออกก่อนหน้า คือ มีโรคมากกว่า 1 โรค การรักษาอยู่ในความดูแลใกล้ชิด
เมื่อถามถึงผู้สัมผัสใกล้ชิดเคสปู่ย่าหลานอีก 4 รายที่เหลือผลเป็นอย่างไร นพ.โสภณกล่าวว่า ตรวจยืนยันเชื้อล้วผลออกมาเป็นลบทั้ง 4 ราย จากก่อนหน้านี้ที่ตรวจไปแล้ว 97 ราย ทั้งหมดเป็นลบ แต่ยังต้องติดตามทั้งหมดต่อเนื่องจนครบ 14 วัน
เมื่อถามถึงการแชร์ราคาการตรวจแล็บยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีราคาแพง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การแชร์กันเรื่องราคาการตรวจแล็บเพื่อยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้ออกมาจาก สธ. อย่างไรก็ตาม การตรวจแล็บโรคโควิด-19 มีเครือข่ายการตรวจที่ได้มาตรฐาน 7 แห่ง คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี รพ.ราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร รพ.บำรุงราษฎร์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วน รพ.อื่น หรือ รพ.เอกชนต่างๆ อยู่ระหว่างการยื่นขอเข้าร่วมเป็นเครือข่าย ซึ่งจะมีการประเมินศักยภาพ มาตรฐาน ความชำนาญ ถ้าผ่านก็จะรับรองอยู่ในเครือข่าย
นพ.โสภณกล่าวว่า หากเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคก็จะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ เช่น ไม่มีอาการป่วยแต่จะมาตรวจก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองตามที่ รพ.แห่งนั้นกำหนดไว้
นฑ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เมื่อประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย สถานพยาบาล เจ้าบ้าน เจ้าของสถานที่ที่พบผู้ป่วยหรือรู้ว่ามีผู้ป่วย ต้องแจ้งใน 3 ชั่วโมง หากแจ้งก็จะมาดูว่าเข้าเกณฑืหรือไม่ ถ้าเข้าเกณฑืจะแจ้งมายังผู้รับผิดชอบ เช่น กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะไปตรวจที่ไหน แต่หากไม่แจ้งมีความผิด หรือดำเนินการส่งกันเองโดยไม่แจ้งผู้ที่ตามจ่ายก็อาจจะไม่ทราบ ดังนั้น หากมีคนสงสัยต้องแจ้งก่อน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่แจ้งใน 3 ชั่วโมงไม่ได้ จะมีความผิด เมื่อแจ้งเจ้าพนักงานเสร็จก็จะพิจารณาว่าเข้าข่ายหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว้าจะเป้นรพ.เอกชนหรือไม่ หากไม่เข้าข่ายประสงค์จะตรวจก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง