xs
xsm
sm
md
lg

กลับจากประเทศเสี่ยง ควรกักตัวเอง 14 วัน สธ.ชี้ยังเแค่ขอความร่วมมือ แต่หากมีคำสั่งแล้วไม่ทำ ถือว่าผิด กม.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ย้ำหลังประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายมีผลบังคับใช้ หากพบผู้ป่วยสงสัยแล้วปกปิดหรือไม่แจ้ง ถือว่ามีความผิด ส่วนกรณีกลับจากประเทศเสี่ยงควรกักตัวเองกับบ้าน 14 วัน ชี้ตอนนี้ยังเป็นการขอความร่วมมือ แต่หากมีคำสั่งจากเจ้าพนักงานให้กักตัวแล้วไม่ทำตาม ถือว่าผิด กม.เช่นกันฐานไม่ปฏิบัติตาม เหมือนกับกรณีแยกตัวผู้ป่วยสงสัยแล้วพยายามหลบหนี ก็เอาผิดได้ ย้ำโรคนี้ไม่ได้น่ารังเกียจ รักษาได้ ขออย่าหนี และเปิดเผยทุกอย่างตามความจริง เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและคนรอบข้าง

จากกรณีผู้เดินทางกลับมาจากประเทศเสี่ยงแล้วไม่ยอมกักตัวเองกับบ้าน 14 วัน จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หรือไม่ เมื่อมีการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14

วันนี้ (27 ก.พ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามแล้ว อยู่ในขั้นตอนส่งไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แต่หลังจากมีผลบังคับใช้ ประชาชน สถานพยาบาล ผู้ประกอบการ เช่น โรงแรม และห้องชันสูตร จะมีหน้าที่ตามกฎหมาย ในการรายงานและแจ้ง เมื่อสงสัยหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย เช่น มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค คือ จีน (รวมฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิตาลี และอิหร่าน หรือมีโอกาสใกล้ชิดผู้ป่วย ก็ต้องนึกว่าถ้ามีอาการไข้ ทางเดินหายใจ ก็ต้องนึกว่าเป็นโรคนั้นได้ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ซักประวัติ เพื่อช่วยในการรักษา ขณะเดียวกันเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ถ้าทราบจะได้ปเองกันตนเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัย ให้ผู้ป่วยไม่ให้ไปอยู่ในจุดใกล้ชิดกับคนอื่น

"หากกฎหมายมีผลแล้ว การที่ไม่แจ้งก็จะมีโทษปรับจำนวน 2 หมื่นบาท แต่การที่เราให้ความรู้ประชาชนจะมีความตระหนักมากขึ้น จำนวนเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด แต่ที่สำคัญคือความตระหนักและความปลอดภัยของตัวเองที่ได้รับการรักษาเร็วอย่างถูกต้อง กับผู้อื่นที่อยู่ใกล้ชิดจะได้ปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ กฎหมายมีไว้เพื่อความปลอดภัยและความสงบสุขในสังคม หากทุกคนปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายจะลดความเสี่ยง อย่างที่เน้นว่าการทำตามกฎหมายตนเองก็ปลอดภัยมากขึ้น รักษาถูกกับโรค ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ คนไข้คนอื่น คนในครอบครัวที่ใกล้ชิด จะได้รับการปกป้องด้วย " นพ.โสภณ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีผู้ป่วยต้องสงสัยโควิด-19 ต่างชาติหลบหนีออกจาก รพ. แต่เมื่อตามตัวได้และตรวจยืนยันเชื้อพบว่าผลเป้นลบ จะมีแนวทางแนะนำสถานพยาบาลในการป้องกันผู้ป่วยหลบหนีหรือไม่  นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัด สธ.กล่าวว่า ระบบสาธารณสุขทั้งรัฐและเอกชนเรามีการควบคุมคัดกรอง โดยเฉพาะผู้ป่วยต้องสงสัยก็จะมีระบบเข้มงวด ไม่ให้หลุดรอดในการคัดกรอง รักษา และผู้ใกล้ชิด แต่จะเน้นย้ำไปอีกครั้งหนึ่งให้เข้มงวดมากขึ้น แต่ต้องขอตรวจสอบรายละเอียดก่อน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก สธ. กล่าวว่า กรณีนี้ยังไม่ได้ตรวจสอบ แต่ถ้าปรากฎการณ์เช่นนี้เป็นจริง ต้องฝากสื่อแจ้งข่าวประชาชนว่า เรื่องการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 ไม่ได้เป้นอะไรที่น่ารังเกียจจากประชาชนเจ้าหน้าที่ แต่การรังเกียจมักเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ เป็นแล้วตาย แต่โรคนี้ป่วยได้จำนวนมาก แต่อัตราเสียชีวิตแค่ 3% การแพร่เชื้อระหว่างกันหากรู้โดยเร็วก็ไม่ได้ 100% ที่จะติดต่อ สิ่งที่เรากำลังตื่นตระหนกกันไป และให้ความรู้ไปถึงตัวบุคคลโดยเฉพาะคนไทยที่ป่วยแล้วกลัวว่าจะถูกกัก อันนี้เป้นความเข้าใจผิด ถ้ารู้เร็วรักษาเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะหนี รพ. แม้เจ้าหน้าที่จะรู้แล้วไปเอาชุดอวกาศมาสวมป้องกันก็ไม่ต้องกังวลใจ นี่คือความปลอดภัย 100% ที่เราทำให้แก่ท่าน ครอบครัวท่าน และคนไทยทุกคน

นพ.โสภณ กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีกล่าวถึง 3 คำ คือ 1.แยกกัก (Isolation) คือ กรณีพบผู้ป่วยอาจมีเชื้อ ก็นำรักษาในห้องแยก 2.การกักกัน (Quarantine) สำหรับคนที่ยังไม่ป่วย แต่มีโอกาสได้รับเชื้อ เช่น คนป่วยในบ้าน 1 คน คนใกล้ชิดมีโอกาสรับเชื้อแต่ยังไม่ป่วย ก็เอาคนเหล่านี้มากักกันไว้ อาจกักกันที่บ้าน (Home Quarantine) โดยอยู่อีกห้องหนึ่ง หรืออยู่ รพ. (Hospital Quarantine) แต่ไม่น่ากลัว เพราะส่วนใหญ่ที่ถูกกัน เมื่อครบ 14 วันก็ถือว่าเป็นคนไม่ป่วย โดย 2% กว่าๆเท่านั้น ที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแล้วมาพบเชื้อ แปลว่า 98% หลังกกักกันเสร้จก็เป็นคนปกติเหมือนเดิม แต่ที่ต้องกักกันก็เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้กักกันที่ต้องสังเกตอย่างใล้ชิดและคนอื่นที่อยู่รอบๆ ไม่ให้รับเชื้อ ซึ่งระหว่างกักกันก็ทำอย่างอื่นได้ และ 3.คุมไว้สังเกตอาการ (Observation) กรณีนี้อาจเป้นคนสัมผัสแต่ไม่ใกล้ชิด เช่น อยู่ห่างบนเครื่องบินลำเดียวกัน มีผู้ป่วย 1 คน คนสัมผัสใกล้ชิดคือคนที่นั่งรอบๆ 2 แถวหน้าหลัง แต่คนที่นั่งไกลออกไปเป็นสัมผัสเสี่ยงต่ำ ก็ให้สังเกตอาการ สามารถอยู่ที่บ้าน ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ต้องวัดไข้ทุกวัน มีอาการไอ น้ำมูกหรือไม่ มีอาการให้รีบพบแพทย์ กลุ่มนี้เสี่ยงน้อยกว่า แต่ก็ต้องคุมไว้เพื่อสังเกต ถ้ามีกฎหมายแล้ว เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสามารถสั่งให้ทำได้ โดยไม่บิดพลิ้ว ขณะนี้ขอความร่วมมือ เพราะยังไม่ได้ใช้กฎหมายเป็นตัวนำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสั่งให้ดำเนินการ เช่น แยกกัก กักกัน หรือคุมตัวไว้สอบสวน ดังนั้น หากมีคำสั่งให้คนที่กลับจากประเทศเสี่ยงต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน 14 วัน หากไม่ดำเนินการคำสั่งก็จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 51 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คือ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในฐานะจิตแพทย์ จากปรากฏการณ์ของโรคโควิด-19 จะเห็นพลังของโซเชียลมีเดียที่ไปกระทบต่อผู้ป่วยตอนนี้ เช่น การระบายอารมณ์ต่างๆ ออกมาทางโซเชียลมีเดีย ตอนนี้ต้องเป็นหัวอกเดียวกัน ผู้ที่ติดเชื้อก็ไม่ต้องการจะเจ็บป่วย เป็นผู้ที่น่าสงสาร ก็จะคล้ายกับโรคติดต่ออันตรายสมัยก่อน เช่น เอชไอวี ที่เกิดความตื่นตระหนกตกใจกลัว และเกิดการแบ่งแยกกีดกัน ทำให้คนที่ป่วยด้านนี้ไม่มีที่ยืนที่อยู่ในสังคม มีผลกระทบทางด้านจิตใจ เมื่อจิตใจไม่ดีกายก็ไม่ดีไปด้วย ตอนนี้ถือว่าโชคร้ายติดเชื้อ แต่เมื่อเปิดเผย แจ้งทุกอย่าง และมาอยู่ในการดูแลของแพทย์ คนไทยก็ควรแค่ติดตามและให้กำลังใจกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น