xs
xsm
sm
md
lg

เอกฉันท์!! เห็นชอบประกาศ "โรคโควิด-19" เป็นโรคติดต่ออันตรายอันดับ 14 ชะลอไทยเข้าระยะ 3 ป้องกัน Super Spreader

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คกก.โรคติดต่อเห็นชอบ ออกประกาศ "โรคโควิด-19" เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 เตรียมเสนอให้ รมว.สธ.ลงนาม ก่อนส่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเร็วๆ นี้ ถึงมีผลบังคับใช้ "อนุทิน" ยันออกประกาศไม่ใช่ว่าไทยเข้าระยะที่ 3 แต่เพื่อป้องกันซูเปอร์ สเปรดเดอร์ และยืดเวลาเกิดระยะที่ 3 เหตุมีอำนาจกักตัวรักษาผู้ป่วยต้องสงสัยได้ หากไม่ยินยอมมีโทษตามกฎหมาย

วันนี้ (24 ก.พ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมีวาระการพิจารณาออกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ว่า การประชุมคณะกรรมการณ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายจะมีประโวยชน์ต่อการควบคุมโรคในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่า การประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ไม่ได้แปลว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่การแพร่ระบาดในระยะที่ 3 แต่ป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดในระยะที่ 3 หรือหากจะเกิดก็เพื่อชะลอออกไปให้ยาวมากที่สุด เรียกว่าเราใช้มาตรการของการแพร่ระบาดในระยะ 3 มาใช้กับระยะ 2 ถือเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่สิ่งที่น่าตระหนกตกใจ เป็นการทำให้มากเข้าไว้ 

"การเห็นชอบให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ไม่มีการโหวต ไม่มีเสียงแตก แต่เป็นการเห็นชอบโดยเอกฉันท์ สำหรับผลดีทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง เจ้าพนักงานต่างๆ ใช้ประกาศฉบับนี้ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อเกิดความคล่องตัวในการควบคุมโรค รักษาโรค ไม่ให้เกิดการแพร่กระจายออกไป ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเราไม่ให้สถานการณ์พาเราไป เราอยู่หน้าเหตุการณ์ตลอดเวลา เพื่อควบคุมการระบาดให้ได้มากที่สุด" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า การออกประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ ซูเปอร์ สเปรดเดอร์ (Super Spreader) คือผู้ป่วยที่มีอำนาจในการกระจายโรคไปในวงกว้าง เพราะหากไม่ออกประกาศ การขอกักตัว 14 วันผู้ที่ต้องสงสัย เขาก็มีสิทธิปฏิเสธรับการรักษาหรือการกักตัวได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้น แต่เราเกลี้ยกล่อมได้ จึงเป็นเหตุผลที่เรายังไม่มีซูเปอร์ สเปรดเดอร์ และเราไม่ต้องการให้มี จึงต้องประกาศย้ำว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายและพร้อมที่จะบังคับใช้กฎหมาย เพื่อยืดระยะเวลาไม่ให้ไปสู่ระยะที่ 3 เพราะเราอยู่ในระยะที่ 2 มานานแล้ว แต่เห็นเพื่อนบ้านประเทศอื่นๆ ที่ข้ามคืนมีผู้ป่วยโผล่เป็นร้อยราย เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

"การประกาศเป็นการตอกย้ำให้ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และให้ทราบว่ามีกฎมายบังคับใช้อยู่ การปฏิเสธอะไรต่างๆ เช่น การไปประเทศที่มีการอุบัติของโรค แล้วมีอาการกลับมา ก็จะกลับบ้านไม่ได้ ต้องยอมถูกกักโรค 14 วัน ซึ่งก็สามารถอ้างกับนายจ้าง หรือผู้บังคับบัญชาได้ว่าจำเป็นต้องถูกแยกตัวเพื่อเฝ้าระวัง 14 วัน เพื่อมั่นใจว่าไม่โรคนี้ไม่ถูกแพร่กระจายออกไป และสร้างความมั่นใจให้เจ้าตัวว่าปลอดจากเชื้อ หลังกลับจากต่างประเทศหรือไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ" นายอนุทินกล่าวและว่า การออกประกาศไม่ได้เพื่อหาคนผิดลงโทษ แต่ทำให้คนตระหนักมากยิ่งขึ้น เพื่อควบคุมการระบาด นอกจากนี้ ข้อดีอีกข้อของการประกาศคือ หากพบว่ามียาใดๆ ในต่างประเทศ ที่มีสรรพคุณรักษาผู้ป่วยได้ นอกเหนือจากยาที่เรามีอยู่ และยังไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนหรือผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ก็จะเกิดการยกเว้นเป็นเรื่องความฉุกเฉิน การรักษาผู้ป่วยสถานการณ์ระบาด อย.ก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ การออกประกาศมีแต่ผลดี ไม่มีอะไรให้ต้องตื่นตระหนก หรือทำให้ประเทศไทยสูญเสียจากการประกาศ ซึ่งเราประกาศมา 13 ครั้งแล้ว เช่น โรคซาร์ส โรคเมอร์ส และเห็นหรือไม่หลังประกาศเราจัดการโรคเหล่าให้ไม่กลับมาคุกคามเราอีกครั้ง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า หลังจากประชุมเสร็จจะมีการนำร่างประกาศเสนอให้รมว.สธ.ลงนาม หลังจากนั้นจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไปที่ลงประกาศทันที ซึ่งจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด สำหรับการป้องกันซูเปอร์ สเปรดเดอร์นั้น จะเป็นมาตรา 34(1) ที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจ หากผู้มีเหตุอันควรสงสัยโรคติดต่ออันตราย ก็มีอำนาจบังคับให้มารับการตรวจรักษาหรือการกักตัว เพื่อคุ้มครองสังคมได้ จนกว่าจะปลอดโรค เพื่อป้องกันไม่เกิดเหตุแบบเกาหลีใต้

เมื่อถามว่า พฤติกรรมส่วนบุคคลแบบใดที่อาจเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย หากประกาสเป้นโรคติดต่ออันตรายแล้ว  นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า ยกตัวอย่างหากเรากักตัวใครในสถานที่ใดที่หนึ่ง แล้วเจ้าตัวไม่ยอมอยู่ ก็สามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ หรือไม่อนุญาตเดินทางไปที่ไหนก็สามารถบังคับได้ ซึ่งการประกาศโรคติดต่ออันตรายรอบนี้เพื่อให้ เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ป้องกันควบคุมสถานการณ์มีเครื่องมือดำเนินการป้องกันควบคุมโรค จะเป็นการช่วยให้สถานการณ์ระยะที่ 2 ยืดออกไปให้ยาวสุดเท่าที่จะทำได้ หรือหากเข้าสู่ระยะที่ 3 ก็จะช่วยให้ชะลอการเพิ่มขึ้นจำนวนผู้ป่วยออกไปได้

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า การไม่ยอมอยู่ รพ. เคยเกิดขึ้นจริง อย่างช่วงคัดกรองคนไข้ต้องอยู่ รพ. แต่เขาไม่ยอม แม้เราบอกรักษาฟรีก็ไม่ยอม บอกว่าอาการไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เพราะคนไทยเราคุยรู้เรื่อง ซึ่งก็เคยมีคนพูดไม่รู้เรื่องขึ้นแท็กซี่กลับเลย แบบนี้อันตรายมาก ถ้าเขาเป็นซูเปอร์ สเปรดเดอร์จะเป็นเรื่องใหญ่มาก หรือกรณีฝรั่งเดินทางผ่านประเทศระบาดแล้วอยู่ไทย 1 วัน รพ.เอกชนโทร.มาปรึกษาว่า จะทำอย่างไร เขาบอกไม่มีอาการอะไรมาก ขอนนอนพักที่คอนโดได้หรือไม่ เราก็บอกไม่ได้ต้องควบคุมคุมเขา

เมื่อถามถึงกรณีการชุมนุมทางการเมือง  นายอนุทิน กล่าวว่า หากจะมีการชุมนุมหรือประชุมอะไรที่มีคนเยอะๆ ก็เคยพูดแล้วว่า ถ้าเลี่ยงได้ขอให้เลี่ยง ซึ่งหลายองค์กรก็ออกประกาศเลื่อนหรือยกเลิกไปบ้าง แต่ถ้าชุมนุมโดยที่มีสถานการณ์โรคว่า มีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เข้าสถานที่แออัด มีคนเจ็บป่วยมีอาการ อาจมีการขอให้ไม่ชุมนุมโดยใช้กฎหมาย แต่หวังว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือ เพราะเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่ไม่ทำแล้วใครได้ประโยชน์เสียประโยชน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โทษของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีหลากหลายขึ้นกับลักษณะของความผิด ซึ่งต่อสุดมีตั้งแต่โทษปรับอย่างเดียว เช่น ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ไปจนถึงโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรีบไม่เกิน 5 แสนบาท ส่วนกรณีไม่ยอมรับการกักตัวหรือรับการรักษา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

สำหรับโรคติดต่ออันตราย 13 โรคก่อนหน้านี้ได้แก่ กาฬโรค ไข้ทรพิษ ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ไข้เวสต์ไนล์ ไข้เหลือง ไข้ลาสซา โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส และวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก








กำลังโหลดความคิดเห็น