xs
xsm
sm
md
lg

ยกระดับโควิด-19 โรคติดต่อร้ายแรงลำดับที่ 14 "อนุทิน"หวังชะลอการระบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน360-"บิ๊กตู่"เผยรัฐบาลเตรียมพร้อมรับการระบาดไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 แล้ว ขอประชาชนอย่าตระหนก แต่ต้องตื่นตัว "อนุทิน"แจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ประกาศโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรงอันตรายลำดับที่ 14 แล้ว หวังชะลอการระบาดและยืดการเข้าสู่ระยะที่ 3 ให้นานที่สุด "สาธารณสุข"ระบุไทยไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ส่วน 2 ผู้ป่วยอาการหนัก ตอบสนองการรักษาดีขึ้น ยันชาวจีนป่วยข้ามพรมแดนแม่สอด ผลตรวจเป็นลบ ย้ำหลังคัดกรองเข้ม มีผู้เข้าข่ายกรองโรคเพิ่มวันละ 100 คน ด้านกรมการแพทย์ยันสถานที่รักษาพร้อม หากไทยเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดแผนและเตรียมมาตรการเพื่อรองรับการแพร่ระบาดระยะที่ 3 แล้ว โดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จะมีการประชุมพิจารณาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การควบคุมโรคติดต่อ เพื่อเตรียมพร้อมด้านกฎหมายในการรองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา สามารถศึกษา วิจัย ผลิตและทดลองเวชภัณฑ์ รวมทั้งการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขในด้านอื่นด้วย และขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่ขอให้ตื่นตัว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการฯ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการประกาศนี้ ไม่ได้แปลว่าไทยเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 แต่เป็นการประกาศเพื่อให้การทำงานเพื่อชะลอหรือยืดระยะเวลาการเข้าสู่ระยะที่ 3 ไว้ให้ได้นานที่สุด

ก่อนหน้านี้ ไทยมีการประกาศโรคติดต่ออันตรายแล้ว 13 โรค ได้แก่ 1.กาฬโรค 2.ไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ 5.ไข้เหลือง 6.โรคไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ 8.โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9.โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส 12.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส และ 13.วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก และโรคโควิด-19 จะเป็นลำดับที่ 14

ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ในหมวด 6 การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เช่น มาตรา 35 กรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย ให้คณะกรรมการโรคติดต่อ มีอำนาจสั่งปิดสถานที่ต่างๆ ไว้เป็นการชั่วคราว สั่งให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคหยุดการประกอบอาชีพชั่วคราว และสั่งห้ามผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคเข้าไปในสถานที่บางแห่ง เป็นต้น โดยตามพ.ร.บ.นี้ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.รุ่งเรือง กิตผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยยืนยันสะสมคงเดิมที่ 35 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 21 ราย เหลือนอนรักษาตัวใน รพ. 14 ราย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยอาการปกติดี รอผลแล็บเป็นลบเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยหนัก 2 ราย รายที่ใส่เครื่องพยุงการทำงานของปอด (เอคโม) ตอบสนองต่อการกระตุ้นต่อแพทย์ดีขึ้น รายที่ติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย อยู่ในระดับที่ดีขึ้น ตอบสนองต่อการกระตุ้นการเรียกของแพทย์ดีขึ้น ระบบหายใจดีขึ้น แต่ทั้งสองรายต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคทั้งหมด 1,453 ราย ให้กลับบ้านแล้ว 1,121 ราย ยังอยู่ รพ. 332 ราย สำหรับกรณีผู้ป่วยชาวจีนที่ไม่ได้ข้ามพรมแดนตามช่องทาง โดยเข้ารักษาที่ รพ.แม่สอด จ.ตาก โดยสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขณะนี้ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการออกมาแล้วชัดเจนว่าเป็นลบ

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จากการขยายเกณฑ์เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทำให้ขณะนี้เฉลี่ยมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคประมาณวันละ 100 ราย โดยคนที่มีความเสี่ยง เช่น คนทำงานสัมผัสกับนักท่องเที่ยว สายการบิน นักเรียน นักศึกษาที่กลับมาจากพื้นที่ระบาด บุคลากรทางการแพทย์ แต่ตอนนี้ยังไม่พบความผิดปกติ แต่ต้องติดตามต่อไป เพราะต้องใช้บทเรียนของเกาหลีใต้มาป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในไทย

ทั้งนี้ การทำงาน ต้องเตรียมพร้อมการเข้าสู่ระยะที่ 3 โดยระยะที่ 1 คือ คนป่วยนอกประเทศเข้ามา ระยะที่ 2 คือ ผู้ป่วยต่างประเทศแพร่เชื้อให้คนไทย ซึ่งต้องสกัดไม่ให้ระบาดต่อ และระยะที่ 3 คือ การแพร่ระหว่างคนในประเทศเอง แต่ขณะนี้ ไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 ไม่จำเป็นต้องประกาศระยะที่ 3 แต่ต้องเฝ้าระวังหาคนที่มีโอกาสติดเชื้อ และเฝ้าระวังการเข้ามาของผู้ป่วยจากประเทศเสี่ยง เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมกรณีโรคโควิด-19 เข้าสู่ระยะที่ 3 โดยพื้นที่ใดที่มีผู้ป่วยอยู่ในระดับ 30-40 คน ก็จะมีการพิจารณาเปิดหอผู้ป่วยรองรับพิเศษเป็นการเฉพาะภายใน 48 ชั่วโมง โดยในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมไว้ 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถาบันบำราศนราดูร และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ส่วนในต่างจังหวัดเตรียมพร้อมในระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป แต่หากกรณีมีผู้ป่วยมากขึ้นอีก พื้นที่กรุงเทพฯ ก็จะเตรียมสถานพยาบาลสังกัด กทม. และโรงเรียนแพทย์ในการรองรับ และหากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในพื้นที่ใดระดับ 100-200 คน ก็อาจจะมีการพิจารณาเปิดโรงพยาบาลสนามในการให้การดูแลผู้ป่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ล่าสุด ณ วันที่ 24 ก.พ.2563 อยู่ที่ 2,619 ราย ยอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั่วโลกพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 79,558 คน เพิ่มมากสุดที่เกาหลีใต้ อิตาลีและญี่ปุ่น ส่วนผู้ที่หายจากการป่วย อยู่ที่ 22,615 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น