ไทยไม่มีป่วยโรคโควิด-19 เพิ่ม ส่วน 2 ผู้ป่วยอาการหนักตอบสนองต่อการกระตุ้นแพทย์ดีขึ้น รายวัณโรคร่วม ระบบหายใจดีขึ้น แต่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ใกล้ชิด สธ.เผยผู้ป่วยจีนข้ามพรมแดนธรรมชาติมา รพ.แม่สอด ผลตรวจเป็นลบ ไม่เจอเชื้อ ประสานฝ่ายมั่นคงเข้มด่าน ระบุยังมีการคัดกรองในระดับ รพ.อีก เตรียมประชุมประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ไม่มีการพิจารณาปรกาศไทยเข้าสู่ระยะ 3
วันนี้ (24 ก.พ.) นพ.รุ่งเรือง กิตผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยยืนยันสะสมคงเดิมที่ 35 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 21 ราย เหลือนอนรักษาตัวใน รพ. 14 ราย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยอาการปกติดี รอผลแล็บเป็นลบเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยหนัก 2 ราย รายที่ใส่เครื่องพยุงการทำงานของปอด (เอคโม) ตอบสนองต่อการกระตุ้นต่อแพทย์ดีขึ้น ส่วนรายที่ติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย อยู่ในระดับที่ดีขึ้น ตอบสนองต่อการกระตุ้นการเรียกของแพทย์ดีขึ้น ระบบหายใจดีขึ้น แต่ทั้งสองรายต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคทั้งหมด 1,453 ราย ให้กลับบ้านแล้ว 1,121 ราย ยังอยู่ รพ. 332 ราย สำหรับกรณีผู้ป่วยชาวจีนที่ไม่ได้ข้ามพรมแดนตามช่องทาง โดยเข้ารักษาที่ รพ.แม่สอด จ.ตาก โดยสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขณะนี้ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการออกมาแล้วชัดเจนว่า เป็นลบ
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จากการขยายเกณฑ์เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทำให้ขณะนี้เฉลี่ยมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคประมาณวันละ 100 ราย เนื่องจากเราปรับนิยามเพื่อตั้งใจค้นหาผู้ป่วยไวรัสโคโรนา 2019 มากขึ้น โดยคนไทยที่มีความเสี่ยง เช่น คนทำงานสัมผัสกับนักท่องเที่ยว สายการบิน นักเรียน นักศึกษาที่กลับมจากพื้นที่ระบาด บุคลากรทางการแพทย์ ก็มีเข้ามาตรวจเพิ่มมากขึ้น การดำเนินงานเช่นนี้ก็จะสามารถพบผู้ป่วยคนไทยได้ หากมีการติดเชื้อภายในประเทศไทยจริงๆ ซึ่งตอนนี้ยังไม่พบความผิดปกติ แต่ต้องติดตามต่อไป ซึ่งเราก็จะเอาบทเรียนของเกาหลีใต้มาป้องกันการเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเร็วมาก จากการที่มีผู้หญิงประกอบกิจกรรมทางศาสนาและแพร่ให้คนมาทำกิจกรรม พอมีผู้ป่วยจำนวนมาก 200-300 คน เมื่อไป รพ. เจ้าหน้าที่ก็มีความเสี่ยง รพ.แห่งหนึ่งมีการติดเชื้อในรพ. เป็นต้น
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สธ.เน้นย้ำเรื่องมาตรการใน รพ.เพิ่มขึ้น คือ 1.การคัดแยกคัดกรองผู้ป่วยออกจากระบบปกติ คือทำคลินิกไข้หวัด ทีมตระหนักรู้ ทีมที่ปรึกษา ได้ปรับหลักเกณฑ์เรื่องของไข้ลงมาเหลือ 37.5 องศาเซลเซียส ปอดบวมไม่ทราบสาเหตุ และชี้แจงหน่วยงานรัฐเอกชนและคลินิกให้ทราบหลักเกณฑ์ ระยะต่อจากนี้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่างๆ จะเป็นตัวกำหนดการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 2.การฝึกซ้อมความพร้อมและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง กทม.มีการสื่อสารผ่านมหาวิทยาลัย รพ.เอกชน รพ.สังกัด กทม. กองทัพ กรมการแพทย์ ส่วนต่างจังหวัด ผู้ตรวจราชการสธ. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ.รพ.ได้เตรียมการ เตรียมอุปกรณ์ให้เพียงพอ และเตรียมเรื่องของโครงสร้าง คือ สำรวจห้องแยกโรคความดันลบ หรือกรณีแพร่ระบาดจริงๆ ต้องมอง รพ.สนามที่รับผู้ป่วยจำนวนมาก ซึ่งการเตรียมพร้อมเหล่านี้ได้เตรียมพร้อมและต้องกำกับให้ได้ตามนี้
เมื่อถามถึงข้อกังวลเรื่องการนำผู้ป่วยชาวจีนข้ามพรมแดนโดยไม่ผ่านช่องทางปกติในพื้นที่ อ.แม่สอด นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า การผ่านเข้ามายังประเทศไทยมี 2 ช่องทาง คือ ช่องทางหลักที่มีด่าน กับช่องทางธรรมชาติ ซึ่งต้องขอบคุณที่มีการให้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เข้ามา ก็จะดำเนินการในส่วนของด่านให้เข้มข้นขึ้น ไม่ให้มีการใช้ช่องทางธรรมชาติ แต่มาใช้ช่องทางหลักมากขึ้น แต่โดยปกติก็มักมีชาวบ้านที่ข้ามพรมแดนตามธรรมชาติมาได้ ดังนั้น นอกจากตะแกรงในชั้นของด่านแล้ว เรายังมีตะแกรงคัดกรองในชั้นของ รพ.ด้วย ดังนั้น ถ้ามาลักษณะเช่นนี้นำผู้ป่วยเข้ามา รพ.ก็จะตรวจจับได้ ถ้าเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ต้องสงสัยก็จะต้องถูกติดตาม และยังมีตะแกรงในชั้นชุมชนอีก
เมื่อถามถึงการเตรียมประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายกับการประกาศการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ช่วงบ่ายวันที่ 24 ก.พ. จะมีการพิจารณาโรคติดต่ออันตราย แต่ไม่มีการพิจารณาประกาศเรื่องประเทศเข้าสู่ระยะที่ 3 ต้องทำความเข้าใจว่า การทำงานเราต้องเตรียมพร้อมการเข้าสู่ระยะที่ 3
นพ.โสภณ กล่าวว่า การแพร่ระบาดในระยะที่ 1 คือ คนป่วยนอกประเทศเข้ามา ระยะที่ 2 คือ ผู้ป่วยต่างประเทศแพร่เชื้อให้คนไทย ซึ่งเราสกัดไม่ให้ระบาดไปต่อ ซึ่งเราต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เข้าสู่ระยะที่ 3 คือ การแพร่ระหว่างคนในประเทศเอง ซึ่งจริงๆ แล้วการแพร่ระบาดอยู่ในระดับไหน ขึ้นกับสถานการณ์ที่เห็นได้ชัดเจน ไม่จำเป็นที่จะต้องประกาศ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระยะที่ 2 โดยเราต้องดำเนินการลดเสี่ยงคนในประเทศ เนื่องจากเรามีผู้ป่วยยืนยัน 25 คนที่เป็นคนต่างชาติ ที่มาอยู่ในไทยเดือนกว่า อาจทำให้เกิดการแพร่ในคนไทยก็ได้ เลยต้องค้นหาคนไทยที่มีโอกาสรับเชื้อ เพื่อชะลอไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศระยะที่ 3 และต้องเฝ้าระวังการเข้ามาของผู้ป่วยจากประเทศที่มีการระบาด เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ก็ต้องดูแลคนที่กลับจาก 3 ประทศนี้ เพื่อไม่มีการเติมผู้ป่วยต่างประเทศเข้ามาใหม่ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องสำคัญพอกัน ถ้าไม่สามารถจัดการได้ ก็อาจเกิดปัญหา
เมื่อถามถึงความร่วมมือของรพ.เอกชนในการตั้งคลินิกไข้หวัด และกรณีคนที่เดินสายตรวจยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ Super Spreader นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ในส่วนของภาคเอกชน เราหารือไปนานแล้ว และสื่อสารประสานงานเครือข่ายทั้งระบบ ก็คงต้องเน้นย้ำไปอีก เพราะสถานการณ์ภายนอกประเทศเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ต้องสื่อสารเพื่อกำชับระบบว่า ควรเฝ้าระวังตามหลักเกณฑ์ที่ก็เปลี่ยนให้ไวมากขึ้น แต่ละที่ทำได้แค่ไหนต้องสื่อสารทำให้อย่างจริง อย่างการตั้งคลินิกโรคไข้หวัด หรือหลักเกณฑ์การติดตามใช้อุปกรณ์ในการป้องกันตนเอง ก็ต้องสื่อสารลงไปเพิ่มเติม ส่วนภาคประชาชนระดับบุคคล เช่น บริษัทเอกชนที่มีผู้กลับมาจากประเทศเสี่ยง ก็ดูแลตนเองในการลดการแพร่กระจาย ก็ต้องสื่อสารภาคประชาชนเช่นกัน