"อนุทิน" เปิดคลินิกกัญชา รพ.แม่สอด เผยเป็น 1 ใน 32 รพ.ที่ให้บริการเพิ่มในเฟสสอง เน้นรักษาใน 5 กลุ่มโรค ลมชักดื้อยา คลื่นไส้จากเคมีบำบัด ปวดประสาท กล้ามเนื้อหดเกร็ง ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และผู้ป่วยระยะประคับประคอง มะเร็งระยะสุดท้าย รับสารสกัดน้ำมันกัญชาจากอภัยภูเบศรแล้ว 200 ขวด
วันนี้ (30 ก.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ รพ.แม่สอด จ.ตาก ว่า คลินิกกัญชาทางการแพทย์ที่ รพ.แม่สอดแห่งนี้ เป็น 1 ใน 32 โรงพยาบาลที่ได้เปิดบริการเพิ่มในระยะที่ 2 เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชา เข้าถึงกัญชาเพื่อการรักษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรม ด้วยระบบการบริหารจัดการที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง โดยได้รับสารสกัดน้ำมันกัญชาจาก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรแล้ว 200 ขวด การเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้สารสกัดจากกัญชารักษาโรคภายใต้การดูแลของแพทย์ เภสัชกร พยาบาลที่ผ่านการอบรม และเป็นการเก็บข้อมูลผลการรักษาเพื่อนำมาวิเคราะห์วิจัย พัฒนายกระดับการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์กับวงการแพทย์ต่อไป
นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับคลินิกกัญชาทางการแพทย์ รพ.แม่สอด เปิดบริการรักษาผู้ป่วยใน 5 กลุ่มโรคหลัก คือ โรคลมชักดื้อยา คลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด อาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ปลอกประสาทอักเสบ/เสื่อมแข็ง และผู้ป่วยระยะประคับประคอง มะเร็งระยะสุดท้าย ภายใต้การดูแลบุคลากรที่ผ่านการอบรมคือ แพทย์ 1 คน เภสัชกร 3 คน พยาบาลวิชาชีพ 3 คน และแพทย์แผนไทย 2 คน เปิดให้บริการทุกวันพฤหัส สัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือน เวลา 8.30 - 12.00 น. คาดว่าจะให้บริการประชาชนได้วันละ 30 ราย โดยมีอายุรแพทย์ประสาทวิทยา จิตแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แพทย์นิติเวชและห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ร่วมให้การดูแลและให้คำปรึกษา
ทั้งนี้ จังหวัดตากเป็น 1 ในจังหวัดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันตก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายประชากรของแรงงานต่างชาติ รวมทั้งโรคติดต่อตามแนวชายแดน ซึ่งโรงพยาบาลแม่สอดเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายรับส่งต่อผู้ป่วยจากสถานพยาบาลภาครัฐและองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ (Non-government Organizations : NGO) ในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเมียวดีที่มีความประสงค์จะมารักษาต่อ โดยการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายชายแดน การจัดบริการเชิงรุกอย่างเป็นมิตรในโรงพยาบาลชุมชน และข้ามประเทศ การพัฒนาระบบข้อมูลสาธารณสุขต่างชาติ และการพัฒนาความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนภายในและนอกประเทศ