สธ.ยกกระทรวงค้าน ยืดเวลาแบนสารพิษอีก 6 เดือน ปลัด สธ.สั่ง รพ.ขึ้นป้ายหนุนแบนสารเคมีต่อเนื่อง กรมอนามัยห่วงกระทบเด็กในครรภ์ ชี้ทำเด็กไทยโง่ ไอคิวลดลง 2.7-7 จุด กระทบพัฒนาการ เพศ ห่วงยืดออกอีก 6 เดือนกระทบเด็กเกิดใหม่อีกกว่า 3.5 แสนคน
วันนี้ (25 พ.ย.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากทุกกรม ได้ร่วมกันแถลงข่าวความทุกข์ผู้ป่วย-ความห่วงใยของ สธ.กรณีแบน 3 สารเคมีอันตราย โดยนพ.สุขุม กล่าวว่า สารเคมีบางอย่างมีอันตรายเกินไป บุคลากรในโรงพยาบาลเห็น จึงยอมไม่ได้ จึงออกมาให้ข้อมูลความจริง ทั้งนี้ จะเอาผลประโยชน์ประเทศมาแลกกับชีวิตประชาชนคงไม่คุ้ม และต่อให้เกษตรกรได้ค่าแรงมากแค่ไหน แต่หากต้องเสียชีวิตหรือเป็นเนื้อเน่าก็ไม่คุ้ม นอกจากนี้ การทำการเกษตรก็ยังมีเกษตรอินทรีย์อาจลงทุนเพิ่มอีกนิดแต่แลกกับชีวิตของคนก็คุ้มค่ากว่า ขณะนี้เห็นชัดว่ายิ่งใช้สารเคมีมากยิ่งได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ อาหารที่รับประทานเข้าไป หากมีการปนเปื้อนรับประทานแล้วลูกเกิดมาโง่ เกิดมาพิการจะแลกหรือไม่ และเด็กรุ่นใหม่ที่จะเกิดมาทุกคนต้องร่วมกันปกป้อง และหากจะมีการยืดเวลาไปอีก 6 เดือนนั้น อยากให้มองว่าในแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตกี่คน อย่างไรก็ตาม จากการเก็บข้อมูลที่ผ่านมาพบผู้เสียชีวิตจากโรคเนื้อเน่า 45 รายต่อปี แต่ในปี 2562 ที่ จ.น่าน พบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่านอนรักษามากที่สุดเดือนก.ค.เพียงเดือนเดียว 25 ราย ดังนั้น จึงก็ขอให้โรงพยาบาลทั่วประเทศขึ้นป้ายสนับสนุนการแบนสารเคมีไว้คงเดิม
นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยห่วงผลกระทบจากสารเคมีที่มีต่อทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความไวต่อยาและสารเคมี ซึ่งมีการศึกษาว่า สารเคมีทั้ง 3 ตัวมีผลกระทบต่อการสร้างสมองของทารก โดยเฉพาะในครรภ์จะมีความไวเป็นพิเศษ เสี่ยงกระทบต่อระดับสติปัญญาและพัฒนาการ เพราะฉะนั้น ปัจจัยใดก็ตามที่จะปกป้องทารกไม่ให้เสี่ยงพัฒนาการล่าช้า เป็นสิ่งที่เร่งด่วนรอไม่ได้ และไม่ควรยืดระยะเวลาหรือผ่อนผันออกไป ทั้งนี้ กรมอนามัยไม่ได้มีเจตนาจะซ้ำเติมเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ แต่ต้องการเร่งรัดให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เกษตรกรได้รับการดูแลและจัดหาสารทดแทนโดยเร็ว และผู้ประกอบการนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดช่วยเปลี่ยนเร็วที่สุด เพื่อผลในการดูแลเด็ก
นพ.สมพงษ์ ชัยโอภานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย และกุมารแพทย์ กล่าวว่า งานวิจัยในปี 2552 เกี่ยวกับผลกระทบจากคลอร์ไพรีฟอส ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยศึกษาในเด็กอายุ 7-11 ขวบ จำนวน 700 คนที่มีพ่อแม่เป็นเกษตรกร พบว่า ระดับสติปัญญาหรือไอคิวเด็กลดลงเฉลี่ย 7 จุด มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ และเสี่ยงต่อภาวะหอบหืด และมีการทำเอ็มอาร์ไอ พบว่า สมองเกี่ยวกับความจำในเด็กผิดปกติ ซึ่งจะกระทบกับไอคิวและสมาธิสั้น รวมถึงมีการศึกษาในเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ไม่ใช่ครอบครัวเกษตรกร พบว่าไอคิวลดลง 2.7 จุด นอกจากนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับพาราควอตปี 2556 ในสหรัฐฯ พบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคพาร์กินสัน ขณะที่ไกลโฟเซต มีการศึกษาในเยอรมนีปี 2556 ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
“หากยืดการแบน 3 สารเคมีนี้ออกไปอีก 6 เดือน นอกจากผลเสียต่อเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลเสียต่อเด็กที่จะได้รับอันตรายจากสาร ทำให้มีไอคิวต่ำ เพราะในการตั้งครรภ์อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ จะมีการสร้างอวัยวะ และเซลล์ประสาท คือสมองและไขสันหลัง รวมถึงเรื่องอขงการสรางอวัยวะเพศ เพราะ 8 สัปดาห์แรกยังไม่แยกเพศ แต่การรับสารพิษทำให้เทสโตสเทอโรนฮอร์โมนผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดเพศผิดปกติ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ราวปีละ 7 แสนคน หากยืดให้มีการใช้ 3 สารนี้ต่อไป 6 เดือน เท่ากับจะมีเด็กประมาณ 3.5 แสนคนที่จะต้องเสี่ยงที่จะมีไอคิวลดลงระหว่าง 2.7-7 จุด ใครจะรับผิดชอบ ขณะที่ธนาคารโลกระบุว่าภาวะสุขภาพที่ดีของเด็ก จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศในอนาคต” นพ.สมพงษ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมยังมีการนำเสนอผู้ได้รับผลกระทบจากสารเคมีทางการเกษตรในอีก 4 รพ.ด้วย เช่น รพ.แม่สอด จ.ตาก พบผู้ป่วยชายชาวพม่า อายุ 42 ปี รับจ้างทำไร่ข้าวโพด สัมผัสสารกำจัดวัชพืชจากถังพ่นที่มีรอยรั่ว ทำให้สารเคมีรดหลังและก้นตลอดเวลา โดยไม่รู้ตัวเนื่องจากฝนตกทั้งวัน ทำให้มีแผลที่ก้นทั้งสองข้าง เข้ารักษา รพ.แม่สอด ด้วยอาการปวดแผล แผลกว้าง ลึก คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะหายใจหอบ ภาพรังสีปอดพบฝ้าขาวทั้งสองข้าง มีพยาธิสภาพรุนแรง การทำงานของปอดล้มเหลว ผลเลือดพบไตและตับวาย สุดท้ายเสียชีวิตวันที่ 5 ส.ค. 2562 เป็นต้น