สธ.เผยมีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงชาวจีนที่เฝ้าระวัง เพราะเป็นครอบครัวเดียวกับผู้ป่วยรายก่อน รวมเป็น 35 ราย ระบุขยายเกณฑ์สอบสวนโรค รวมผู้ป่วยที่เดินทางมาจาก “ญี่ปุ่น-สิงคโปร์” ใน 14 วัน หรือผู้สัมผัสใกล้ชิดนักท่องเที่ยวหรือคนมาจาก 2 ประเทศนี้ด้วย รวมบุคลากร รพ.ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หากเป็นหวัดต้องตรวจยืนยันเชื้อทันที ป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนผู้ป่วยที่ศรีสะเกษ ยังต้องรอผลแล็บยืนยันอีกครั้ง
วันนี้ (17 ก.พ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่าขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่มอีก 1 ราย เป็นหญิงชาวจีน อายุ 60 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในครอบครัวชาวจีน 9 คนที่เข้ามาพร้อมกันแล้วมีผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งสรุปว่าครอบครัวนี้ติดเชื้อทุกคน ส่งผลให้ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสม 35 ราย รักษาหายแล้ว 15 ราย เหลือนอนรักษา รพ.20 ราย ซึ่งอัตราการรักษาผู้ป่วยหายของประเทศไทยถือว่าสูงที่สุดในโลก คือ มากกว่า 40% ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนผู้ป่วย 2 รายที่มีอาการหนัก โดยทั่วไปอาการยังดีอยู่ ยังคงใช้เครื่องช่วยหยุงการทำงานของปอดและหัวใจ (เอคโม) และเครื่องช่วยหายใจ สำหรับการติดตามสถานการณ์ประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่าประเทศที่มีผู้ป่วยมากกว่าเรา คือ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่มีการประกาศว่ามีผู้ป่วยที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเกี่ยวกับคนจีนหรือไม่ แสดงว่าอยู่ในการแพร่ระบาดระยะที่ 3 คือระบาดภายในประเทศ ดังนั้น จะมีการตั้งด่านคัดกรองผู้เดินทางมาจาก 2 ประเทศนี้ด้วย หากเดินทางมาแล้วมีไข้ จะถือเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค และจับเข้าห้องแยกโรคทันทีเพื่อรับการรักษาและตรวจวินิจฉัย หากไม่มีไข้ก็จะเช็กประวัติ ตรวจสอบที่อยู่ และติดตามเป็นเวลา 14 วัน หากมีอาการไข้ ทางเดินหายใจภายใน 14 วัน ให้รีบมาตรวจวินิจฉัยทันที
“วันนี้มีการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้บริหาร สธ.ทั่วประเทศ ทำความเข้าใจโดยเฉพาะเขตสุขภาพที่มีความเสี่ยง คือ มีสนามบิน และท่าเทียบเรือ ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนมาตรการวินิจฉัยโรค จากเดิมที่เราคัดกรองผู้ป่วยที่มาจากจีน รวมทั้งจีนฮ่องกง ไต้หวัน มาเก๊า ตอนนี้ก็จะดูเพิ่มอีก 2 ประเทศ คือสิงคโปร์และญี่ปุ่น โดยให้ทำแผนปฏิบัติการถึงระดับตำบล หมู่บ้าน อำเภอ ใครมีประวัติไปต่างประเทศในพื้นที่เสี่ยงช่วงนี้ หากมีอาการผิดปกติให้รีบมาตรวจ และขยายในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ใน รพ.ที่มีการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ ไม่ว่าบุคลากรใน รพ.จะมีหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยหรือไม่ก็ตาม หากมีอาการหวัดก็ต้องนำมาตรวจวินิจฉัยตั้งแต่ต้น ซึ่งหากเข้าเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ การมาตรวจวินิจฉัยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย” นพ.สุขุมกล่าว และว่าขณะนี้ได้ให้อธิบดีกรมควบคุมโรคและอธิบดีกรมการแพทย์ ซักซ้อสถานการณ์ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ.รพ.ทั่วประเทศ และระดับปฏิบัติการว่าหากมีการระบาดทั่วประเทศจะทำอย่างไร ส่วนเรื่องงบประมาณสนับสนุนการทำงานของบุคลากรควบคุมโรคนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยกำลังพิจารณาตามความจำเป็นทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว
นพ.สุขุมกล่าวว่า สำหรับคนไทยที่กลับจากอู่ฮั่น 137 คนที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ไม่มีไข้ หรือเข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายใหม่ ส่วนผู้ป่วย 1 ราย มีอาการปกติ ไม่มีไข้ ไอ น้ำมูก เตรียมอนุญาตให้กลับบ้านวันที่ 19 ก.พ.นี้ สำหรับเรื่องการตรวจยืนยันเชื้อ มีนโยบายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาทุก รพ.ทุกจังหวัด สามารถตรวจยืนยันได้ใน 1-2 เดือนนี้อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่งและมีมาตรฐานเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดทดสอบแบบง่ายรู้ผลใน 5 นาทีแล้วเสร็จ แต่ยังต้องเทียบความน่าเชื่อถือ ความเที่ยงความตรง และทดสอบเทียบกับแล็บมาตรฐานในการตรวจหาสารพันธุกรรม ซึ่งคาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก็จะเอาชุดทดสอบมาใช้ ส่วนกระแสที่ว่า รพ.ไม่ตรวจยืนยันเพราะเป็นภาระค่าใช้จ่ายก็ไม่จริง เพราะค่าใช้จ่ายในการตรวจเป็นงบของกรมควบคุมโรค อย่างไรก็ตาม ขอร้องบุคลากรสาธารณสุขให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศเสี่ยงทุกประเทศในช่วงนี้
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก สธ.กล่าวว่า ส่วนกรณีข่าวพบผู้ป่วยติดเชิ้อเพิ่มที่ จ.ศรีสะเกษ ขอชี้แจงว่า ขณะนี้การเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อจากแล็บ 2 แห่งนั้น แห่งหนึ่งให้ผลเป็นบวก อีกแห่งเป็นลบ จึงยังไม่ถือว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังต้องรอการตรวจยืนยันผลอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนโรคพบว่า มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับชาวจีน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้บินไปตรวจเยี่ยมการทำงานควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยตนและผู้ตรวจราชการ สธ.เขต 2 ร่วมเดินทางไปด้วย แต่เนื่องจากมีความขัดข้องทางทัศนวิสัย ทำให้ลงจอดไม่ได้ ดังนั้น รมว.สธ.จึงได้วิดีโอคอลไปยังผู้ช่วยเลขานุการ รมว.สธ. ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 2 และทีมงานสาธารณสุข เรื่องข้อสั่งการเฝ้าระวังควบคุมโรค เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ สำหรับการขยายการคัดกรองเพิ่มผู้เดินทางมาจากญี่ปุ่นและสงิคโปร์ ทำให้ผู้มีความเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดขยายตัวเพิ่มด้วย คือ คนขับรถสาธารณะ และคนทำงานใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวจาก 2 ประเทศนี้ หากมีอาการไข้ ไอ ทางเดินหายใจให้รีบมาพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยเช่นกัน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป คร. กล่าวว่า สิงคโปร์และญี่ปุ่นสถานการณ์ใกล้เคียงกัน เพื่อความปลอดภัยทั้งของคนไทยและคนชาติอื่นที่มาจาก 2 ประเทศนี้ก็เริ่มคัดกรองแล้ว โดยดูว่ามีไข้ทางเดินหายใจหรือไม่ เช่นเดียวกับประเทศจีนในช่วงแรก ซึ่งยังไม่พบผู้ป่วย คำแนะนำสำหรับคนไทยคือเลื่อนการเดินทางที่ไม่จำเป็นออกไป กรณีจำเป็นต้องระมัดระวังป้องกันการติดเชื้อ เมื่อกลับมาต้องทำตามคำแนะนำ
ด้าน นพ.นริศ บุญธนภัทร นายแพทย์ชำนาญการด้านระบาดวิทยา รพ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า การควบคุมเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ของพื้นที่แม่สอด ดำเนินการใน 3 ส่วน คือ 1. คัดกรองหรือสกรีนนิง ซึ่งทำอย่างเข้มข้นทุกด่านเข้าประเทศทั้งทางบก ทางอากาศ และเรือ 2. การระบุตัวตน หรือแทร็กกิง และ 3. การติดตามหรือมอเตอริง เพื่อวัดไข้ ซึ่งตรงนี้มีปัญหา เนื่องจาก อ.แม่สอดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ทำให้มีชาวจีนเดินทางมาพักที่ อ.แม่สอดมากขึ้น ประกอบกับนโนบายของบริษัทชาวจีนที่ตั้งอยู่ฝั่งพม่า ระบุว่า คนจีนที่จะเข้าไปยังพื้นที่บริษัทได้ ต้องอยู่ในประเทศไทยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 14 วัน ทำให้ตอนแรกยังระบตัวตนและติดตามไม่ได้ แต่หลังจากบูรณาการทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองละมหาดไทย ทำให้ระบุตัวตนและตรวจติดตามคนจีนเหล่านี้ได้ 100% สามารถติดตามวัดไข้ได้ทุกวัน ทำให้การควบคุมโรคมีความมั่นใจมากขึ้น น่าจะเอาอยู่ ส่วนนี้อยากให้เป็นโมเดลสำหรับพื้นที่ชายแดนต่อไป