xs
xsm
sm
md
lg

ชง คกก.เคาะ "โควิด-19" เป็นโรคติดต่ออันตราย 24 ก.พ.นี้ เผยให้ยาอิโบลารักษา 2 ผู้ป่วยหนักแล้ว อาการคงที่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.แถลงไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติม 2 ผู้ป่วยอาการหนักให้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ที่ใช้รักษาโรคอิโบลาแล้ว ขณะนี้อาการทรงตัวและคงที่ ส่วนคนไทยบนเรือสำราญไดมอนด์ปรินเซสที่ไม่พบการติดเชื้อ ขึ้นกับมาตรการญี่ปุ่นจะให้กลับได้เมื่อไร เผยร่างประกาศโรคโควิดข19 เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว รอชง คกก.โรคติดต่อแห่งชาติเคาะวันที่ 24 ก.พ.นี้ ช่วยสั่งการให้ทุกคนทำตามคำแนะนำได้ หากฝ่าฝืนมีโทษ

วันนี้ (20 ก.พ.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า จำนวนผู้ป่วยสะสมยังเท่าเดิม 35 ราย รักษาหายแล้ว 17 ราย เหลือนอน รพ. 18 ราย โดยอาการปกติดี ส่วน 2 คนที่มีอาการรุนแรงขณะนี้อาการทรงตัวและคงที่ โดยทั้ง 2 คนได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคอิโบลา แม้จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่เมื่อมีข้อมูลการใช้รักษาว่าได้ผล เราจึงมีการเตรียมพร้อมที่นำมาใช้ ซึ่งตามปกติการนำมารักษาโรคหนึ่งมาใช้กับอีกโรคหนึ่ง จะมีคณะกรรมการยาพิจารณารับรอง แต่กรณีคนไข้โรคอุบัติใหม่จะมีการยกเว้นและเตรียมความพร้อมให้ใช้ได้

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า สำหรับคนไทยบนเรือสำราญไดมอนด์ปรินเซสที่ประเทศญี่ปุ่น ผลตรวจเจอเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 2 คน เป็นลุกเรือ 1 คน และนักท่องเที่ยว 1 คนได้รับการดูแลรักษาแล้ว ส่วนอีก 1 คนที่ตรวจแล้วไม่เจอเชื้อและจะเดินทางกลับไทยนั้น ขึ้นอยู่กับมาตรการของประเทศญี่ปุ่นว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น ต้องเฝ้าระวัง 14 วันก่อนกลับหรือไม่ หรือให้เดินทางกลับได้เลย ซึ่งตรงนี้อยู่ระหว่างการประสานงานว่าเป็นเช่นไร

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ควบคุมการระบาดได้ และขยายพื้นที่เฝ้าระวัง เพื่อให้มั่นใจว่าคนไทยจะปลอดภัย เช่น กลุ่มที่สัมผัสนักท่องเที่ยวต่างชาติ จังหวัดพื้นที่เสี่ยง ซึ่งกลุ่มที่เฝ้าระวังก็เข้ามาตรวจคัดกรองมากขึ้น คำแนะนำสำหรับผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด ประเทศไทยไม่มีนโยบายกักกัน ทั้งเครื่องบินพาณิชย์ เรือสำราญ แต่ต้องผ่านการตรวจคัดกรองวัดไข้ มีอาการทางเดินหายใจหรือไม่ เพื่อค้นหาผู้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หากตรวจพบเข้าเกณฑ์จะแยกตัวส่ง รพ.เพื่อวินิจฉัยและรักษา คนไม่มีอาการก็กลับบ้านเฝ้าระวังอาการป่วยไข้ทางเดินหายใจ 14 วัน หากมีอาการให้รีบมาพบแพทย์ พร้อมใส่หน้ากากอนามัย แจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนกรณีผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัม หากแค่มา Transit ไม่ได้เข้าเมือง เราจะมีการตรวจวัดไข้ ากไม่มีอะไรก็ให้เดินทางไปต่อได้ แต่หากจะเข้าเมือง ก็จะผลักดันกลับตามนโยบาย

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายว่า เรื่องการรักษาให้ สธ.เป็นหน่วยงานหลักประสานร่วมหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้รักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพ ถูกต้องเหมาะสมรวดเร็ว หากผู้ป่วยมีมากขึ้นในระยะถัดไป ต้องมีสถานพยาบาลเพียงพอรองรับ และการชะลอป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดตามแแบบประเทศอื่น ต้องป้องกันตรงนี้ให้นานสุด 

เมื่อถามว่าจะมีการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อันตรายหรือไม่  นพ.โสภณ กล่าวว่า ช่วง ม.ค.เนื่องจากข้อมูลยังไม่ชัดเจนเรื่องการติดต่อจากคนสู่คน คณะกรรมการจึงยังไม่ได้พิจารณาประกาศเป็นโรคติดต่อันตราย แต่ขณะนี้ข้อมูลมีความชัดเจนแล้วในหลายๆ เรื่อง ซึ่งคณะกรรมการด้านวิชาการได้มีการประชุมสัปดาห์ก่อน ก็พิจารณาเห็นชอบในการจัดทำร่างประกาศเสนอคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 24 ก.พ.นี้ ซึ่งหากคณะกรรมการทั้ง 30 คนมีมติเห้นชอบ ก็จะเสนอร่างประกาศให้ประธานคณะกรรมการ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม ทั้งนี้ การประกาศโรคติดต่ออันตราย จะทำให้การบริการจัดการโรคนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการต่างๆ ก็เสมือนเป็นโรคติดต่อันตรายอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยน้อย การบริหารจัดการ การเฝ้าระวัง สอบสวน รักษาพยาบาล จึงดำเนินการได้ไม่ยุ่งยากมาก และเป็นการดำเนินการแบบขอร้อง แต่หากอีก 2 เดือนข้างหน้าหรืออนาคตมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น กฎหมายจะเป็นเครื่องมือช่วยทำงาน เวลามีคนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่ก็สามารถใช้กฎหมายเอาผิดได้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ก็จะคล้ายกับสิงคโปร์ที่ใช้กฎหมายให้กักตัวที่บ้าน 14 วันหากกลับมาจากประเทศระบาด เมื่อไม่ทำตามก็มีโทษ เป็นต้น

"การพิจารณาเป็นโรคติดต่ออันตราย หลักเกณฑ์ก็คล้ายกับการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก คือ ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เพราะเป็นเชื้อใหม่  มีความรุนแรง เช่น ป่วยตายสูง ซึ่งช่วงแรกในประเทศจีนเป็นเช่นนั้น การป่วยแพร่ระบาดเร็ว ข้ามประเทศ และมีการจำกัดการเดินและทางการค้า ซึ่งตอนนี้สถานกาณ์เปลี่ยน เรามีข้อมูลมากขึ้น จึงตัดสินใจได้รอบด้าน โดยหลายประเทศก็ยกระดับเป็นโรคสำคัญมากกว่าโรคติดต่อทั่วไปแล้ว" นพ.โสภณ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น