MGR Online - “หมอยง” ชี้กรณี สธ.เตรียมประกาศโควิด-19 เป็นโรคอันตราย ไม่ใช่ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยเลวร้ายลง แต่เป็นการเอื้อทางกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ทำงานง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง Super Spreader ในเรือไดมอนด์ ปรินเซส สิงคโปร์ เกาหลี เป็นบทเรียน ชี้ทุกคนต้องตระหนักและป้องกันไม่ให้เกิดในไทย ยัน MERS - SARS - Ebola ไทยก็ผ่านมาได้ด้วยดี
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) โดยวานนี้ (21 ก.พ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า “การออกประกาศว่าโรคใดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงจะกระทำเมื่อคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อมีมติของที่ประชุมแล้วจึงนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ลงนามในประกาศ คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อส่วนใหญ่ คือ แพทย์ผู้มีความชำนาญและประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้เป็นอย่างดี และหากจะต้องมีการประกาศให้โรค COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว ประชาชนทั่วไปก็ยังคงใช้ชีวิตตามปกติเหมือนทุกวัน”
ล่าสุด วันนี้ (22 ก.พ.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิตและหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาค วิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เกี่ยวกับ “โรคโควิด-19 การประกาศเป็น โรคติดต่ออันตราย” โดยระบุว่า
“การประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายของโรคโควิด-19 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรครุนแรงขึ้น หรือสถานการณ์เลวร้ายขึ้น การประกาศดังกล่าวจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะมีกฎหมายรองรับ
ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าไม่ได้ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ก็ได้รับความร่วมมือกับประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว เช่น การขอตรวจ เพื่อการวินิจฉัยโรค การกักกันโรค 14 วัน ทุกคนให้ความร่วมมือดีมาก
ถ้าไม่มีประกาศ ประชาชนจะไม่ร่วมมือก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อมีการประกาศแล้ว ถ้าไม่ร่วมมือจะถือว่าผิดกฎหมาย มีบทลงโทษ
ตัวอย่างเห็นได้ชัดในเกาหลี การขอตรวจวินิจฉัย ถ้าผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมืออย่างที่เป็นข่าวแล้วทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคอย่างกว้างขวาง ที่เรียกว่า super spread จากคนคนเดียว (super spreader) แพร่โรคไปได้มากมาย
เราคงไม่อยากเห็นภาพเช่นนั้น ที่จะสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง
ในอดีตที่ผ่านมาก็มีการประกาศโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงหลายครั้ง ผมเคยอยู่ในที่ประชุมด้วย ตั้งแต่สมัย SARS, MERS, Ebola, เราก็ผ่านมาด้วยดีเกือบทุกโรค”
ขณะที่ วานนี้ ศ.นพ.ยงยังได้ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีผู้ป่วยที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคอย่างกว้างขวาง หรือ Super Spread ไว้ว่า
“โควิด-19 กับการแพร่กระจายแบบสุดๆ หรือ ที่เรียกว่า “super spread”
ในอดีต สมัยโรค SARS ระบาด ได้มีการแพร่ระบาดแบบ Super spread เกิดขึ้นในสิงคโปร์ ผู้ป่วยเพียงคนเดียวสามารถแพร่กระจาย ไปอย่างรวดเร็ว เป็นจำนวนมาก
ต่อมาสมัย MERS ประเทศเกาหลี ก็เช่นเดียวกัน มีผู้ป่วยเพียงคนเดียว สร้างความปั่นป่วน เกิดการระบาดเป็นจำนวนมากและ กระจายต่อเป็นร้อย ในโรงพยาบาลของเกาหลี กว่าจะควบคุมได้ก็เป็นเดือน และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
การเกิด Super Spread มีหลายองค์ประกอบ ปริมาณไวรัสในผู้ป่วยคงมีเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการไม่มาก ผู้ป่วยนั้นอยู่ในผู้คนหมู่มาก
สมัยเกาหลี ผู้ป่วยรายนี้นอนอยู่ในห้องฉุกเฉิน ที่มีผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมาก พร้อมที่จะรับเชื้อและเกิดโรคแพร่โรคไปได้อย่างรวดเร็ว กว่าจะรู้ก็อยู่ในชั้นที่แพร่โรคในเจนเนอเรชั่นที่ 2 หรือ 3 ไปแล้วที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก
โรคโควิด-19 ที่เห็นมีการระบาดแบบ super spread ก็คงสามารถยกตัวอย่างได้ ในเรือสำราญ Diamond Princess จากผู้ป่วยฮ่องกงเพียงรายเดียว สามารถแพร่กระจายโรคได้ 500-600 คน ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ทั้งที่มีมาตรการอย่างเต็มที่ และรู้ก่อน ป้องกันเต็มที่
สิ่งที่เราจะต้องตระหนักอย่างยิ่งในการป้องกัน ไม่ให้เกิด super spread ของ โควิด 19 ในบ้านเรา โดยเฉพาะในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล หรือ โรงพยาบาลที่มีคนอัดมากๆ
โอกาสที่จะสัมผัสโรค และการแพร่กระจายโรค จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ในบริเวณที่มีคนอยู่มากๆ การจัดประชุมใหญ่ๆ โรงแรมที่มีคนพักอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งคอนโดที่อยู่อาศัย จะต้องหามาตรการป้องกันการแพร่กระจายแบบสุดๆ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้น
การแยกโรค หรือผู้ที่รู้ว่าตัวเองไม่สบาย ก็เป็นมาตรการสำคัญในการลดการแพร่กระจายแบบสุดๆ ดังกล่าว”