xs
xsm
sm
md
lg

ไทยรักษาโควิด-19 หายเพิ่มอีก 2 ราย เฝ้าระวังเพิ่ม "เกาหลีใต้" ชี้คนไทยช่วยลดแพร่ระบาด Super Spreader ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยยังไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม รักษาหายอีก 2 รายเป็น 19 ราย ผู้ป่วยอาการรุนแรงแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังไม่พ้นวิกฤต สธ.เผยขยายคัดกรองคนเดินทางจากเกาหลีใต้แล้ว เพิ่มเติมจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ร่วมปอดอักเสบหาสาเหตุไม่ได้ ส่งผลผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่มขึ้น แจงประกาศโรคติดต่ออันตรายช่วยให้ จนท.ปฏิบัติงานได้ดีขึ้น ชี้ชะลอการระบาดในไทยได้ หากทุกคนไม่ตื่นตระหนก เชื่อข่าวลือ เจ็บป่วยพักอยู่กับบ้าน ลดโอกาสเกิดซูเปอร์ สเปรดเดอร์แบบต่างชาติ

วันนี้ (21 ก.พ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้ผู้ป่วยยืนยันยังเท่าเดิม 35 ราย ข่าวดีคือรักษาหายเพิ่มเติม 2 ราย เป็นชายชาวจีนอายุ 56 ปี และอายุ 34 ปี จากสถาบันบำราศนราดูร รวมเป็นรักษาหาย 19 ราย เหลือนอนรักษาใน รพ. 16 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง 2 ราย พบว่า รายที่ใช้เครื่องพยุงการทำงานของปอด (เอคโม) อาการดีขึ้นเป็นลำดับ มีอาการหลายอย่างที่ชี้ชัดไปในทางค่อยดีขึ้น แต่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต ส่วนอีกรายยังทรงตัวอยู่ สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคสะสม 1,151 ราย ให้กลับบ้านแล้ว 941 ราย ยังอยู่ใน รพ. 210 ราย ทั้งนี้ เฉพาะวันที่ 20 ก.พ. มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เพิ่มขึ้น 99 ราย ซึ่งเหตุผลที่จำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่มขึ้น มาจาก 2 สาเหตุ คือ

1.ขยายวงการเฝ้าระวังผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาด จากเดิมคือจีน ก็เพิ่มมาเป็นเขตปกครองพิเศษฮ่องกง มาเก๊า จีนไทเป รวมถึงประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และล่าสุดคือเกาหลีใต้ และ 2.การเฝ้าระวังผู้ป่วยปอดบวมจากการติดเชื้อไวรัสโดยไม่ทราบสาเหตุใน 8 จังหวัด ที่เคยมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาจำนวนมาก เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) สมุทรปราการ และชลบุรี ซึ่งผู้ป่วยปอดอักเสบหาสาเหตุไม่ได้ คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือไวรัสอื่นๆ จำนวนที่รายงานยังมีเท่าเดิมไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งประมาณสัปดาห์เดียวมีประมาณ 27 คน 

"สำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศที่มีการแพร่ระบาดชัดเจน คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ขอย้ำว่าไทยไม่ได้ห้ามการเดินทาง แต่หากไม่จำเป็นก็อาจเลื่อนออกไปก่อน หากมีความจำเป็นก็ไม่ได้ห้าม เดินทางได้ คำแนะนำ คือ เตรียมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงไปที่มีคนในชุมชนหนาแน่น หลีกเลี่ยงการไปที่มีคนไอจาม หากไปที่เสี่ยงสูงให้ใส่หน้ากากอนามัย กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ส่วนประเทศไทย แม้ขณะนี้สถานการณ์ยังนิ่ง แต่เราไม่อยากให้มีการระบาดเพิ่มที่รวดเร็วเหมือนเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งเรายังมีความเสี่ยงจากนักเดินทางที่เข้ามา เพราะมาตรการเราเปิดกว้างรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ก็ยังคัดกรองเฝ้าระวังผู้เดินทางจากประเทศระบาดอย่างเข้มข้น ตั้งแต่บนเครื่องบิน สนามบิน โรงพยาบาล ชุมชน หากเจอคนมีอาการเข้าเกณฑ์ก็จะตรวจอย่างละเอียด ส่วนคนไทยทั่วไปคือ หลีกเลี่ยงไปคนที่มีจำนวนมาก หากไปสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง" นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศเสี่ยงสูง เพราะเป็นศูนย์กลางการเดินทางของนักท่องเที่ยว แต่ขณะนี้สถานการณ์ในไทยเริ่มนิ่ง การที่ต้องประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ก็เพื่อให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคใช้อำนาจหรือข้อบังคับตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้อย่างเต็มที่ เป็นเครื่องช่วยการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อยืดหรือชะลอการแพร่ระบาดในประเทศให้นานที่สุด และทำให้เราพร้อมมากขึ้นในการรับมือช่วงที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการประกาศไม่ได้ทำให้ประชาชนต้องตระหนกหรือเปลี่ยนแปลงอะไร เป็นการเพิ่มเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุข

เมื่อถามถึงกรณีบางประเทศมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างเพราะมีคนที่มีอำนาจในการแพร่กระจายสูง (Super Spreader) จะทำอย่างไรไม่ให้ไทยเกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้  นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า คนที่เป็นซูเปอร์ สเปรดเดอร์ ไม่ได้เป็นคนพิเศษ แต่เพียงเมื่อป่วยแล้ว ไม่ว่าจะมีอาการเหมือนคนทั่วไปหรือมีอาการมาากว่าคนทั่วไปเล็กน้อย เช่น ไอบ่อยกว่าคนทั่วไป แต่ยังไม่หยุดอยู่กับบ้าน และเป็นคนที่สัมผัสผู้คนได้จำนวนมาก หรืออาจใช้ชีวิตในสถานที่แออัดมาก ทำให้เกิดคนติดเชื้อจำนวนมากด้วย ซึ่งประเทศไทยสุดท้ายจะระบาดกว้างขวางหรือไม่ ก็ขึ้นกับคนไทยทุกคนเมื่อเริ่มป่วย หากอยากให้ประเทศไทยสงบสุข ดังนั้น เมื่อมีไข้ไอเจ็บคอ ควรอยู่กับบ้าน หากอาการหนักต้องพบแพทย์ ออกจากบ้านต้องเตรียมหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เพื่อลดการปนเปื้อนจากการที่เราแพร่เชื้อ ตรงนี้จะช่วยประเทศได้มาก หากไม่ป้องกันคนอื่นรอบข้าง ทั้งครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คนโดยรอบก็จะติดเชื้อไปด้วย เมื่อเริ่มมีอาการป่วยแล้วต้องรู้ตัวมีสติ และท่องในใจเสมอว่า โรคต้องหยุดที่เรา ไม่แพร่คนอื่นอีก เพื่อช่วยประเทศชาติ ช่วยคนที่เรารัก

"การชะลอไม่ให้ประเทศไทยเข้าสู่การแพร่ระบาดภายในประเทศแบบวงกว้างหรือระยะที่ 3 การประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ได้มีการนำเสนอมาตรการด้านสาธารณสุข คือ การชะลอการแพร่ระบาด ไม่ให้มีผู้ป่วยจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ หรือไม่เพิ่มจำนวนสูงเกินกว่า รพ.จะรับมือได้ ซึ่งขณะนี้เราไม่เจอคนไข้ ก็ทำเชิงรุกวิ่งออกไปหาเพิ่มเติม เพื่อหากเจอจะได้รักษาเร็ว โอกาสแพร่เชื้อก็จะน้อย แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เจอเพิ่ม ที่สำคัญคนต้องไม่ตื่นตระหนก หากตระหนก เมื่อเป็นหวัดไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็จะวิ่งเข้า รพ. ก็จะทำให้ผู้ป่วยล้น ดังนั้น หากป่วยอาการไม่รุนแรงก็พักกับบ้าน ป้องกันคนที่บ้านอย่าให้ติดเชื้อ และอีกเรื่องคือการรักษาผู้ป่วย โดยการเตรียม รพ. บริหารจัดการเตียงรับผู้ป่วย บูรณาการทำงานของสถานพยาบาลทุกประเภท ทุกสังกัด แชร์ทรัพยากร หากจำเป็นใช้ รพ.ใดรับผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ หน่วยงานสาธารณสุขใกล้เคียงก็ต้องมาจัดการงานด้านอื่นแทน รพ.ที่รับผู้ป่วย โดยเรามีการเตรียมการเป็นลำดับชั้นไป ดังนั้น การชะลอการแพร่ระบาดจึงขึ้นกับคนไทยร่วมมือหรือไม่ เพราะหากไม่ฟังใคร เชื่อแต่ข่าวลือก็จะยากจัดการ ไม่ว่าจะทำงานเต็มที่เท่าไร หากจำนวนผู้ป่วยในประเทศเพิ่มจริงๆ ปัจจัยที่จะก้าวข้ามสถานการณ์ไปได้คือคนไทยทุกคน" นพ.ธนรักษ์กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นวิธีการแพร่ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีการใช้คำว่า แอโรซอล (Aerosol) คำนี้ไม่ใช่ศัพท์มาตรฐานทางระบาดวิทยา โดยทางระบาดวิทยาบอกวิธีการแพร่เชื้อ 2 คำ คือ การแพร่เชื้อทางละอองฝอย (Droplet) คือ น้ำลายน้ำมูกกระเด็นออกมาเวลาผู้ป่วยพูดไอจาม และการแพร่ทางอากาศ (Airborne) ซึ่งยืนยันว่าการแพร่โรคของไวรัสโคโรนาเป็นแบบละอองฝอย ไม่ใช่ทางอากาศ








กำลังโหลดความคิดเห็น