xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ขอคนป่วยงดดูคอนเสิร์ต ผู้จัดงานตรวจเข้ม หากมีไข้ควรคืนค่าบัตร เผย 2 เดือนเวลาทองไทยรับมือโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ขอคนป่วยงดดูคอนเสิร์ต ผู้จัดงานควรตรวจร่างกายวัดไข้ หากมีไข้ไม่ควรให้เข้าและคืนเงิน ช่วยป้องกันแพร่เชื้อ เผยหากประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย คกก.โรคติดต่อจังหวัด มีสิทธิพิจารณาการจัดงานต่างๆ แจงไวรัสโคโรนา 2019 อาจกระจายผ่านละอองขนาดเล็กได้ กรณีป่วยใน รพ. เผย 2 เดือนหน้าไทยเข้าสู่ฤดูร้อน โรคติดเชื้อทางเดินหายใจระบาดต่ำ เป็นช่วงทองเตรียมพร้อมไม่ให้ไทยระบาดหนัก

วันนี้ (20 ก.พ.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงประเด็นสื่อต่างประเทศรายงานกรณีจีนระบุว่าไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 แพร่กระจายผ่านละอองในอากาศ (Aerosol) ทั้งน้ำและฝุ่น ว่า ปัจจุบันข้อมูลการติดต่อของไวรัสโคดรนา 2019 ยังเป็นเรื่องของละอองฝอยขนาดใหญ่ (Droplet) เป็นการไอหรือจามรดกัน ติดต่อในระยะใกล้ เช่นเดียวกับหวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ส่วนการแพร่ทางอากาศ (Airborne) จะเป็นเชื้อที่ออกมาเป็นละอองฝอยเล็กมาๆ เช่น วัณโรค หัด เป็นต้น ซึ่งโรคที่แพร่กระจายทางอากาศมักจะติดได้ยาก สำหรับข้อมูลที่ว่าจะกระจายเป็นละอองขนาดเล็ก (Aerosol) จะเกิดขึ้นได้ ในกรณีการทำหัตถการทางการแพทย์ การพ่นยาละอองฝอยเนบูไลเซอร์ โรคๆ หนึ่งโดยส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ แต่หากคนไข้อยู่ในรพ.แล้วต้องทำหัตถการที่ซับซ้อนมากขึ้น ละเอียดมากขึ้น ละอองก็แตกออกได้ หรือไกลมากขึ้น ดังนั้น แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยจึงต้องสวมเครื่องป้องกันมากขึ้น ต้องสวมหน้ากาก N95 

เมื่อถามว่าจะมีการคัดกรองประเทศไหนเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะขณะนี้มีบางประเทศที่มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มแบบก้าวกระโดด  นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ข้อมูลทางระบาดวิทยาเราได้รับหลายทาง เช่น องค์การอนามัยโลก สื่อมวลชน ดังนั้น การเห็นข้อมูลที่เพิ่งเปลี่ยนแปลง จึงต้องตรวจสอบก่อน เพราะกว่าจะแจ้งชื่อประเทศเพิ่มแต่ละครั้ง ไม่ใช่ตามสื่อเสียทีเดียว จ้องขอข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ บางครั้งก็ขอข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศนั้น เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง จึงขอให้ใจเย็น เพราะหลายคนกังวลว่าจะไปต่างประเทศได้น้อยลง จึงต้องขอดูให้ชัดก่อน

ถามว่าสำหรับข้อปฏิบัติสำหรับคนเดินทางไปนอกประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง  นพ.โสภณ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการทำเรื่องนี้คือป้องกันคนไทยปลอดภัยจากโรคที่ป้องกันได้ ดังนั้น การบอกให้ทราบล่วงหน้าว่าที่ไหนมีความเสี่ยง เป็นหน้าที่ของ สธ.อยู่แล้ว ก็จะเห็นว่าการให้คำเตือน เราจะให้คำแนะนำ และบอกระดับความเสี่ยง การปฏิบัติตัวเพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น อย่างที่บอกว่า ถ้าจำเป็นต้องเดินทางก็ต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรให้เราปลอดภัยมากที่สุดในภาวะที่มีความเสี่ยงในพื้นที่ที่เดินทางไป ความเสี่ยงเป็นศูนย์เลยก็คือไปไม่ถึง 

เมื่อถามถึงกรณีบางหน่วยงาน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศไม่อนุญาตให้นิสิตและบุคลากรลาไปประเทศที่มีความเสี่ยงการระบาด ต้องทำถึงขนาดนี้หรือไม่  นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า จริงๆ แล้วเป็นเพียงข้อแนะนำ ซึ่งหากบอกว่าห้าม ก็คือไปแล้วกลับมามีความผิดหรือถูกลงโทษ ซึ่งทุกหน่วยงานปรารถนาสิ่งที่ออกมาก็เป็นข้อแนะนำของแต่ละหน่วยงาน หากตีความและเข้าใจเจตนารมณ์ของการออก ก็จะเป้นไปในทิศทางที่ดี ไม่มีหน่วยงานไหนที่เขียนจำกัดการเดินทางว่าห้ามไป ไปแล้วกลับมาจะถูกลงโทษพักงานหรืออะไรก็ตาม

เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การแพร่ระบาดในระยะที่ 3 ในอีก 2 เดือนนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า เราประเมินเป็นระยะ ถ้าเห็นประเทศที่เกิดนะยะที่ 3 ในเวลานี้ก็เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็คิดว่าเขาทำเต็มที่ แต่ด้วยบริบท ลักษณะของเชื้อ จังหวะ เกิดในช่วงที่เทศกาล ก็ยากที่จะป้องกัน แต่ของประเทศไทย เรายังมีจังหวะ 2 เดือนข้างหน้าที่เป็นเดือนที่ร้อนมากของประเทศ เป็นเดือนที่โรคติดต่อทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสต่ำสุด เช่น ไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก หัด เพราะฉะนั้น ถ้าเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นแบบเดียวกับไวรัสทางเดินหายใจตัวอื่น ก็น่าจะเป็นช่วงที่ปัญหาเราน่าจะยังไม่ลุกลามรุนแรง แต่ก็ไม่ใช่เราจะปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ต้องถือว่าเป็นเวลาทองในการเตรียมความพร้อมทุกเรื่อง สื่อสารกับประชาชน เตรียมสถานพยาบาล อุปกรณ์ป้องกัน การวางแผนแก้ไขปัญหาบบบูรณาการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า เป็นไปได้ 3 ทางคือ 1.คงตัวระดับนี้ และมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน 2.การกลับไปสู่ระยะที่ 1 คือระยะคงตัว มีแต่ผู้ป่วยนำเข้าเข้ามา และ 3.การเข้าสู่ระยะที่ 3 สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อม ซึ่งตอนนี้เป็นระยะลดการป่วย ลดการแพร่กระจาย ที่ต้องทำให้ได้มากสุด

เมื่อถามถึงกรณีเร็วๆ นี้ จะมีการจัดคอนเสิร์ตหรือแฟนมีตของศิลปินเกาหลี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการระบาด ต้องระมัดระวังหรือให้คำแนะนำผู้จัดงานอะไรหรือไม่  นพ.โสภณ กล่าวว่า ศิลปิน แดนเซอร์ต่างๆ ก็ต้องมีการตรวจร่างกายว่ามีไข้และอาการทางเดินหายใจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากปกตินักร้องเป็นหวัดก็คงไม่ขึ้นเวทีอยู่แล้ว เพราะร้องยาก ส่วนจะต้องเลื่อนการจัดงานหรือไม่นั้นก็ต้องแล้วแต่การพิจารณาของผู้จัดงาน แต่หากอนาคตมีการออกประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ก็ต้องขึ้นกับบริบทของแต่ละจังหวัด โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ในการพิจารณาว่าการจัดงานแบนนี้ ความเสี่ยงแบบนี้ ควรให้จัดงานหรือไม่

"การที่คอนเสิร์ตมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดนั้น ไม่ใช่ว่านักร้องร้องแล้วน้ำลายกระจายมาถูกตัวเรา แต่จริงๆ แล้วเกิดจากการที่คนที่เข้าไปดูด้วยกัน เพราะจำนวนคนมาก ต่างคนต่างสนุกและอยู่ใกล้ชิดก็มีโอกาสที่จะสัมผัสน้ำลายในระยะใกล้มากกว่าที่จะมาจากศิลปินบนเวที จริงๆ ที่น่าห่วงคือ คนไทยที่ไปรวมกัน บางคนป่วยก็เข้าไปดู อย่าเข้าใจผิดว่า นักร้องแพร่ให้กับผู้ฟังผู้ชม แต่การรวมของคน แล้วคนป่วยไม่ยอมทำตามคำแนะนำ และฝืนเข้าไป ก็อาจไปแพร่ให้คนรอบๆ ดังนั้น คนป่วยควรงด และคนจัดงานต้องเข้มตรวจอย่างจริงจัง หากใครป่วยเข้าไม่ได้ก็ให้คืนเงิน" นพ.โสภณ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น