สธ.ชี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยค่อนข้างคงตัว แต่ยังต้องเฝ้าระวังเข้ม เผยขยายคนเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง 8 จังหวัด อาการเสี่ยง แต่ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม ยันไม่มีปกปิดข้อมูลผู้ป่วย ตามที่นักวิชาการต่างประเทศตั้งข้อสงสัย เหตุนักท่องเที่ยวจีนหายไป 90% และไทยเริ่มตื่นตัวทำการเฝ้าระวัง ตรวจจับผู้ป่วยได้ตั้งแต่แรก และทำมาตรการเชิงป้องกัน
วันนี้ (19 ก.พ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเติม ผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 35 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 17 ราย เหลือนอนรักษาใน รพ. 18 ราย โดยรายที่มีอาการหนัก วันนี้ไม่มีไข้ แต่ยังอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคสะสม 957 ราย ให้กลับบ้านแล้ว 857 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังอยู่ในรพ. 100 ราย อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ของประเทศจีนจะเริ่มดีขึ้น มีคนหายป่วยมากขึ้น คนอยู่ระหว่างการรักษามีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่มาก ส่วนไทยสถานการณ์ก็ค่อนข้างคงตัว แต่เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้บริหารสธ.ได้ให้นโยบายมุ่งเฝ้าระวังคนไทยกลุ่มเสี่ยงที่ทำงานกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยยกระดับการเฝ้าระวังใน 8 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง เป็นจังหวัดท่องเที่ยวและพบผู้ป่วยติดเชื้อ ได้แก่ กทม. ชลบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ และเชียงราย โดยเฝ้าระวังคนที่ไม่ต้องกลับมาจากต่างประเทศ แต่มีไข้ ทางเดินหายใจ และช่วง 14 วันที่ผ่านมาสัมผัสใกล้ชิดนักท่องเที่ยวหรือมาจากต่างประเทศ จะทำการเฝ้าระวังตรวจสาเหตุการป่วยด้วย หากมีการแพร่เชื้อจะรู้ทันที
นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนกรณีผู้อำนวยการ รพ.อู่ฮั่น เสียชีวิตต้องขอแสดงความเสียใจด้วย แต่อยากทำความเข้าใจว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการระบาดของโรคจำนวนมาก ผู้ป่วยจึงมา รพ.มาก บุคลากรทางการแพทย์ไม่ว่าสาขาใดก็ตามจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ถ้าปริมาณงานไม่มาก การดูแลป้องกันเพื่อไม่ให้ติดเชื้อในบุคลากรจะทำได้มีประสิทธิภาพ แต่ประเทศจีนมีผู้ป่วยมากกว่า 70,000 คน โดยมากกว่า 80% อยู่ที่เมืองอู่ฮั่น ทำให้ช่วงนั้นมีบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งติดเชื้อ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จีนติดเชื้อมากกว่า 1,700 คน เสียชีวิต 6 คน โดยเป็นแพทย์ 2 คน ซึ่งรายล่าสุดเป็น ผอ.รพ.ที่มีส่วนดูแลรักษาผู้ป่วย แต่สถานการณ์อย่างนี้ไม่เกิดในไทย เพราะเรามีผู้ป่วย 35 ราย กระจายสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งมีระบบป้องกันติดเชื้อได้มาตรฐาน บุคลากรมีการฝึกอบรมปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ แต่มี 1 รายเมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นบุคลากร รพ.เอกชนให้บริการผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่วันที่ให้บริการ ผู้ป่วยรายนั้นถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา จึงเป็นบุคลากรรายเดียวที่ติดเชื้อในประเทศไทย แต่อาการดีขึ้น ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมโร คกรมการแพทย์ได้ประชุมเครือข่ายป้องกันโรคติดเชื้อใน รพ. เพื่อซักซ้อมมาตรการป้องกันการติดเชื้อใน รพ.เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบต่างประเทศ
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษก สธ. กล่าวว่า ในการทำงานเรามีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเหนื่อยหรือหนักจนเกินไป และมีการฝึกอบรม ส่งเสริมดูแลสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ บุคลากรท่านใดมีความเสี่ยงก็เข้าระบบเฝ้าระวังให้การดูแลอย่างดี ทั้งนี้ มีคำชื่นชมจากคนเดินทางต่างประเทศ เช่น ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งทำได้ดี มีจุดเจลล้างมือ ช่วยตรวจคัดกรองไข้ ให้เอกสารข้อแนะนำ มีการทำความสะอาดพื้นที่เสี่ยงสัมผัสมากขึ้น เช่น ลิฟต์ ราวจับ ที่เปิดประตูต่างๆ ถือเป็นมาตรการการมีส่วนร่วมของสังคมและเอกชน ทำให้การแพร่ระบาดช้าลง ชะลอตัวลง ไม่เกิดแพร่ระบาดในวงกว้าง
เมื่อถามถึงกรณีนักวิชาการต่างประเทศออกมาระบุว่า ไม่มั่นใจการรายงานผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของไทย ที่อาจต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่าประเทศอื่น แต่ยังไม่มีการระบาดเป็นวงกว้าง นพ.โสภณ กล่าวว่า เมื่อประเทศอื่นทำดีกว่า เรามักมีคำถาม 2 แบบ คือ ทำดีได้อย่างไร และสงสัยว่าดีจริงหรือไม่ ทั้งนี้ ในมุมของไทย เราต้องมั่นใจก่อนว่า ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่มีมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองสนามบินและ รพ. ก่อนหลายประเทศ และเป็นประเทศแรกที่ตรวจเจอผู้ป่วยนอกประเทศจีน และเรามีมาตรการเข้มข้นมาแต่แรก แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าติดต่อจากคนสู่คนหรือไม่ ขณะที่ประเทศอื่นอาจเริ่มช้ากว่า การทำเร็ว ประชาชนรับรู้เร็ว ตื่นตัวก่อนก็ทำอะไรได้มากกว่า นอกจากระบบเฝ้าระวังในสนามบิน ท่าเรือ รพ. ประชาชน ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยว ก็ยังลุกขึ้นมาทำในเชิงป้องกัน ก็ช่วยลดการแพร่เชื้อ
"วันนี้ไม่มีผู้ป่วยในมือให้แถลงเพิ่ม ทั้งที่เราขยายการตรวจคัดกรองมากขึ้น 2 เท่า เพราะเราขยาย 8 จังหวัด ขยายคนไทยที่ไม่ไปต่างประเทศ หรือคนกลับมาจากประเทศที่มีการระบาด เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ก็มาขอตรวจ แม้เราจะตรวจมากขึ้นแต่ก็หาไม่เจอ แต่แน่นอนสาเหตุหนึ่งคือ นักท่องเที่ยวจีนก็ลดลง เดิมมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเฉลี่ยเดือนละกว่า 9 แสนคน แต่หลังจากที่จีนห้ามการเดินทาง นักท่องเที่ยวจีนก็เข้ามาลดลง ตอนนี้หายไปกว่า 90% ก็ตรงไปตรงมา เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวจากพื้นที่ระบาดเข้ามา ก็ไม่มีผู้ป่วยกลุ่มนี้ ตอนหลังจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยที่เราพบเป็นชาวจีนที่เราเฝ้าระวังเพราะมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายก่อนหน้า ส่วนคนไทยป่วยมากขึ้นเพราะเราค้นหามากขึ้น แต่ตอนนี้ก็เริ่มไม่มีแล้ว เพราะไม่มีเข้ามา ก็ไม่มีการแพร่ต่อ ก็เลยหยุด ตรงนี้ต้องช่วยกันดูว่าจะต้องปรับปรุงระบบตรงไหนให้ดีขึ้นอีก" นพ.โสภณ กล่าว
นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ยืนยันว่า สธ.ไม่มีนโยบายปิดบัง ทุกรายเราค้นหาและค้นหาวงกว้างมากขึ้นด้วย ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมด 35 ราย โดยรายแรกๆ เป็นผู้ป่วยนำเข้าทั้งหมด ถ้าเราไม่คัดกรองเฝ้าระวังเข้มข้น ขณะนี้อาจมีการแพร่เป็นร้อยเป็นพัน เพราะติดจากคนสู่คน ถ้าเฝ้าระวังควบคุมไม่ดี คนหนึ่งก็แพร่ไปอีก 1-2 คน แต่เมื่อเราทำตั้งแต่แรก จุดแพร่เชื้อของคนต้นๆ เราก็คุมได้หมด นอกจากนี้เรายังเพิ่มกลุ่มเสี่ยง ผู้มาจากพื้นที่อื่นๆ ด้วย กลุ่มคนไม่สบายปอดอักเสบเฉียบพลันรุนแรง แม้ไม่มีประวัติเสี่ยงก็ตรวจ บุคลากรทางการแพทย์ก็ตรวจ และเพิ่มคลินิกไข้หวัดตาม รพ.เพื่อเป็นจุดเฝ้าระวังคัดกรองมากขึ้น ยิ่งเราค้นหาเพิ่มยิ่งมีโอกาสพบเพิ่ม แต่ถ้าไม่ตรวจก็ไม่เจอ ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่าเราเน้นเรื่องการค้นหาเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง และอาการคนไข้ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด
เมื่อถามถึงกรณีกัมพูชาให้ผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัมออกมาท่องเที่ยว ทั้งที่สถานการณ์บนเรือมีการติดเชื้อจริง ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ก็ต้องติดตามสถานกาณ์ดู ถ้าไม่มั่นใจก็ยกระดับการคัดกรองขึ้น ซึ่ง สธ.มอบนโยบายให้ทุกด่านตรวจวัดไข้คนเข้ามา อาการทางเดินหายใจ
เมื่อถามถึงผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค สัดส่วนตอนนี้เป็นเช่นไร นพ.โสภณ กล่าวว่า ตอนนี้เป็นคนไทยและคนจีนประมาณชาติละ 45% ที่เหลืออีก 10% ก็เป็นชาติอื่นๆ และเมื่อยกระดับการเฝ้าระวังเพิ่ม อาชีพเสี่ยง และประเทศที่มีการรายงานระบาด คนเข้าข่ายสองอันนี้ก็มารับการตรวจเพิ่มเป็นสองเท่า แต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ โดยสัดส่วน 1 ใน 3 หรือประมาณ 300 กว่าคน อยู่ในพื้นที่ กทม. ที่เหลือเป็นพื้นที่ภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ ภูเก็ต