โรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนหลายช่วงอายุ ปัจจุบันผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่วสามารถรับการรักษาได้ด้วยการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ ซึ่งให้ผลการรักษาดีและมีผลข้างเคียงน้อยกว่าและผู้ป่วยมีอัตราการมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
นพ.ทวีศักดิ์ โชติวัฒนพงษ์ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่าโรคลิ้นหัวใจรั่ว คือภาวะที่ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท มีการขาดหรือมีรูรั่ว ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง เช่น จากเคยสูบฉีดเลือดไหลเวียนได้ 5 ลิตร แต่เกิดรั่วออกไป 2 ลิตร ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น โดยทั่วไปหากรอยรั่วเกิดขึ้นไม่มากนักก็จะไม่แสดงอาการใด ๆ ให้เห็น แต่หากเริ่มรุนแรงขึ้นก็อาจมีอาการต่าง ๆ เช่น เหนื่อยง่าย วิงเวียนศีรษะ เป็นลม ปวดที่บริเวณหน้าอก รู้สึกหัวใจเต้นผิดปกติคล้ายกับอาการใจสั่น มีอาการบวมที่เท้าและข้อเท้า เนื่องมาจากการบวมน้ำ
โรคลิ้นหัวใจรั่วที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัย มีสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น ในวัยเด็กมักมีสาเหตุมาจาก หัวใจพิการแต่กำเนิด ในเด็กโตที่อาศัยอยู่ประเทศด้อยพัฒนามักมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เป็นโรคไข้รูมาติก ส่วนในคนสูงวัยมักมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของร่างกายหรือการติดเชื้อ โดยโรคนี้สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาและการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
การผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ ซึ่งจะให้ผลข้างเคียงน้อย เพราะเป็นการซ่อมลิ้นหัวใจของผู้ป่วยให้กลับมาทำงานได้ปกติ ทำให้อัตราการมีชีวิตยืนยาวดีกว่า ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดอาการลิ่มเลือดอุดตันในหัวใจ และลดอัตราเสี่ยงเลือดออกในร่างกาย
การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ หากลิ้นหัวใจไม่สามารถกลับมาทำงานตามเดิมได้อีก ก็จะต้องผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซึ่งลิ้นหัวใจที่นำมาใช้มีทั้งชนิดที่ผลิตจากโลหะ และชนิดที่เป็นลิ้นหัวใจของสิ่งมีชีวิต เช่น หมู วัว แต่การเปลี่ยนลิ้นหัวใจมีความเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าการซ่อมลิ้นหัวใจ และในบางกรณีต้องทานยาละลายลิ่มเลือดตลอดชีวิต
หลังจากผ่าตัดแล้ว แพทย์จะยังคงติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจนกว่าหัวใจจะกลับมาทำงานเป็นปกติโดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ และผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด ในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังสามารถออกกำลังกายได้ ควรออกกำลังกายเป็นประจำเพราะจะช่วยให้หัวใจทำงานได้มากขึ้น แต่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมและไม่ให้หัวใจทำงานหนักจนเกินไป
โรคลิ้นหัวใจรั่วสามารถวินิจฉัยและรักษาได้ จึงควรรีบมาปรึกษาจากแพทย์ด้านโรคหัวใจหากมีอาการหรือข้อสงสัย เพื่อความปลอดภัยและผลในระยะยาว