xs
xsm
sm
md
lg

โปรดอย่าเข้าใจผิด...“โลกส่วนตัวสูง” ไม่ใช่คนต่อต้านสังคมนะ/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในสังคมหนึ่งๆมีผู้คนมากมายเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่างที่แตกต่างกันไปในแต่ละตัวบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสมดุลที่แต่ละคนช่วยกันขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าได้

แต่จะเป็นอย่างไรหากเราไม่เข้าใจความแตกต่างของกันและกัน

โดยทั่วไปเวลาที่เราพูดถึงการเข้าสังคม เรามักจะนึกถึงภาพที่หลายคนเข้ามาพบปะ พูดคุยหรือทำอะไรหลายอย่างร่วมกันด้วยความเต็มใจ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำไปด้วยรู้สึกประหม่า เหมือนถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่สนใจที่จะพาตัวเองเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนจำนวนมากเท่าไรนัก หรือเพราะกิจกรรมเหล่านี้ไม่สามารถให้สิ่งที่ตัวเองต้องการได้ หากเลือกได้ก็จะรู้สึกสบายใจมากกว่าที่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับตัวเอง จนเป็นจุดสังเกตถึงพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากที่หลายคนคาดหวัง

ด้วยพฤติกรรมหลบเลี่ยงการเข้าสังคมที่แตกต่างไปจากคนที่ชอบเข้าสังคมอยู่เสมอซึ่งชัดเจนว่ามีตัวตนและเป็นที่รู้จักในกลุ่มทางสังคมมากกว่า จึงให้นิยามคนที่ชอบเก็บตัวทำอะไรของตัวเองอยู่คนเดียว ไม่พูดคุย ไม่ยุ่งเกี่ยวและไม่ชอบคบค้าสมาคมกับใครนี้ว่าเป็นพวก “โลกส่วนตัวสูง” มักใช้ในเชิงลบโดยมีความหมายไปในทางแบ่งแยกคนที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์และแปลกแยกไปจากกลุ่ม

การที่ใครคนหนึ่งมีโลกส่วนตัวสูงหรือไม่นั้นสามารถพิจารณาได้จากมุมมองทางจิตวิทยาที่มองพฤติกรรมของคนเป็นเรื่องโครงสร้างบุคลิกภาพ ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากทฤษฎีจิตวิทยาเชิงวิเคราะห์ของ คาร์ล จุง (Carl Jung’s Analytic Psychology) โดยวิเคราะห์การแสดงท่าทีหรือการวางตัว(Attitude) ซึ่งสะท้อนบุคลิกภาพที่แตกต่างกันใน 2 ลักษณะ คือคนที่มีบุคลิกภาพแบบเก็บตัว (Introvert) ที่สนใจเรื่องของตัวเองมากกว่าชอบการเข้าสังคมเป็นชีวิตจิตใจแบบคนที่มีบุคลิกภาพแบบแสดงตัว (Extrovert)

เมื่อพิจารณาในมุมมองนี้จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใดหากเราจะสามารถพบเจอกลุ่มคนที่มีบุคลิกภาพแบบเก็บตัวและถอยห่างจากการเข้ากลุ่มสังคมที่ใหญ่กว่าได้เสมอ แม้จะแสดงออกถึงความสนใจในวงจำกัดเฉพาะเรื่องของตัวเอง รู้สึกสบายใจที่จะอยู่คนเดียวและทำสิ่งที่ตัวเองสนใจไปเงียบๆโดยลำพังมากกว่าให้ความสนใจคบหาสมาคมหรือใช้เวลาร่วมกับคนจำนวนมากดังเช่นคนที่มีบุคลิกภาพแบบแสดงตัว แต่ต่างฝ่ายต่างยังคงมีบทบาทและทำหน้าที่ของตัวเองในสังคมได้ไม่แตกต่างกัน

ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนที่มีโลกส่วนตัวสูงหรือมีบุคลิกภาพแบบเก็บตัวมักหาความสุขโดยการใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับตัวเอง จึงอาจไม่แสดงตัวหรือไม่สบายใจที่จะเปิดพื้นที่ส่วนตัวให้คนอื่นที่ไม่มีความสนิทสนมได้เข้ามาในโลกของตัวเองมากนัก พฤติกรรมที่แสดงออกมาจึงดูเหมือนเป็นการปิดกั้น มีท่าทีนิ่งเฉยและไม่กระตือรือร้นที่จะริเริ่มบทสนทนาเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น สนใจอยู่กับโลกของตัวเองจนดูเหมือนไม่อยากรู้จักใครและเข้ากับคนอื่นได้ยากเหลือเกิน จุดนี้เองที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันและตีความหมายไปในทางผิดๆโดยเชื่อว่าจะต้องเป็นคนที่มีความผิดปกติในลักษณะของการต่อต้านสังคม

อย่างไรก็ตาม การที่ใครสักคนหนึ่งเป็นผู้ถือครองบุคลิกภาพแบบเก็บตัวหรือมีโลกส่วนตัวสูงนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนที่เกลียดการอยู่ร่วมกับคนอื่น และที่สำคัญยังนับว่าห่างไกลกับการเป็นคนต่อต้านสังคมอย่างที่ใครหลายคนกำลังเข้าใจผิดอีกด้วย

เมื่อกล่าวถึงพฤติกรรมต่อต้านสังคมหลายคนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่มาก โดยมักนึกถึงคนที่ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียวและเกลียดการคบหาสมาคมกับผู้อื่น รวมทั้งเลือกทำตัวแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ แต่โดยแท้จริงแล้ว พฤติกรรมต่อต้านสังคมถือเป็นความผิดปกติทางจิตที่เรียกว่า “โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้าน

สังคม” (Antisocial Personality Disorder) ซึ่งผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับความคาดหวังและกฎเกณฑ์ของสังคมโดยปราศจากการรู้ผิดชอบชั่วดีจนเป็นบุคลิกภาพประจำตัวไปโดยไม่รู้ตัว
พฤติกรรมที่แสดงออกเป็นประจำของผู้ที่เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม คือ การยึดถือเอาความต้องการ ความพอใจหรือผลประโยชน์ตัวเองมาก่อนเสมอโดยไม่สนใจกฎกติกาใดๆที่มีอยู่ในสังคม หากมีสิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามที่ต้องการจะไม่สามารถควบคุมตัวเองจากความรู้สึกโกรธและไม่พอใจได้ โดยจะทำทุกวิถีทางโดยเฉพาะวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการโกหก หลอกลวง ข่มขู่ ทำลายสิ่งของ แย่งชิงหรือทำร้ายผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการของตัวเองโดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ผิดแต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่าบุคลิกภาพแบบเก็บตัวมีลักษณะที่แตกต่างไปจากบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมอย่างสิ้นเชิง โดยคนที่มีโลกส่วนตัวสูงจึงไม่ถือว่ามีความผิดปกติทางพฤติกรรมในทางที่มุ่งตอบสนองความต้องการของตัวเองโดยไม่คำนึงความผิดชอบชั่วดีแต่อย่างใด หากเป็นเพียงความโน้มเอียงที่จะแสดงออกถึงพฤติกรรมใช้เวลาอยู่กับตัวเองหรือเลือกเข้าหาสังคมอย่างใดอย่างหนึ่งมากน้อยกว่ากัน บางคนอาจมีทักษะที่ดีในหลายๆด้านสำหรับการเข้าสังคมเพียงแต่ขาดความสนใจหรือขาดแรงกระตุ้นเท่านั้น

การเปลี่ยนมุมมองผิดๆที่มีต่อคนที่มีโลกส่วนตัวสูงนับเป็นเรื่องที่ดี เช่นเดียวกับการยอมรับและเข้าใจในความแตกต่างของกันและกันนั้น นอกจากช่วยสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคมแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้แต่ละคนได้ใช้ความแตกต่างเหล่านี้ตามบทบาทหน้าที่ของตัวเองให้เป็นประโยชน์ในการผลักดันสังคมให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างสมดุลและมั่นคง


กำลังโหลดความคิดเห็น