โดย...ร.อ.หญิง พญ.กานติ์ชนิต ผลประไพ จิตแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า
ในปัจจุบันเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ในบางครั้งสมาร์ทโฟเปรียบเสมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์เลยก็ว่าได้ ทั้งนี้เพราะ สมาร์ทโฟนสามารถทำให้เราเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว ทั้งนี้รวมถึงการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) เช่น Facebook Twitter Instagram และ Instant messaging อื่น ๆ ด้วย
เดิมทีมนุษย์เป็นสัตว์สังคมซึ่งต้องการการยอมรับจากผู้คนรอบข้าง ดังนั้นการที่เราสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ง่ายขึ้นมากในปัจจุบัน ทำให้มีความเสี่ยงในการเสพติดสื่อสังคมออนไลน์ได้ง่ายขึ้นมากตามไปด้วย
เราสามารถสังเกตตนเองว่ามีอาการของโรคติดสื่อสังคมออนไลน์นี้ได้จากลักษณะอาการหลายประการที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะพบปัญหาการติด Social media และอาจก่อให้เกิดภาวะของโรคซึมเศร้า โรคเครียด วิตกกังวล สมาธิสั้น และไบโพลาร์ได้ เนื่องจากการจดจ่ออยู่กับสมาร์ทโฟนหรือโซเชียลมีเดียเป็นเวลานานตลอดวันจะทำให้มีเวลาในการพักผ่อนน้อยลง และเกิดการฝั่งตัวเองในโลกออนไลน์มากเกินไปจนตัดขาดจากผู้คนรอบข้าง
ผู้ป่วยบางรายใช้ชีวิตในโลกสมมติมากกว่าโลกแห่งความเป็นจริงเสียอีก เริ่มต้นเช็คอาการกันได้ดังนี้
1.อยู่กับโซเชียลมีเดีย มากกว่าที่ตั้งใจไว้
2.ช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดีย มักจะมีอาการกระวนกระวายใจหรือหงุดหงิด
3.หากเราพยายามที่จะควบคุมการเข้าถึงโซเชียลมีเดียของตัวเองแต่ไม่สามารถควบคุมได้
4.คิดถึงโซเชียลมีเดีย อยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม
5.เวลาที่เครียดมักจะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อคลายเครียด
6.มีการโกหกหรือปิดบัง เพื่อที่จะได้เล่นโซเชียลมีเดีย
7.โซเชียลมีเดียเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาการทำงานหรือเกิดปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด
ลักษณะอาการเหล่านี้เป็นตัวชี้บอกได้ว่าสื่อสังคมออนไลน์เริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว
ตัวเราเองสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดสื่อสังคมออนไลน์ได้ในเบื้องต้น ได้แก่ พยายามจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดียให้ลดลงหรือกำหนดเวลาให้แน่ชัด โดยสามารถใช้การตั้งเตือนก่อนที่จะครบเวลาที่กำหนดช่วยด้วย และพยายามหากิจกรรมอื่นทำ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น งานอดิเรกที่สนใจ การออกกำลังกาย การพบปะเพื่อนหรือญาติ การไปท่องเที่ยว การหากิจกรรมคลายความเครียด
ดังนั้นหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการของ Social addiction ดังกล่าวข้างต้น แล้วไม่สามารถจัดการกับตัวเองด้วยวิธีเบื้องต้นได้ ก็ควรนัดหมายเข้าพบจิตแพทย์เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาปัญหา Social addiction และโรคร่วมอื่น ๆ ทางจิตเวชต่อไป