xs
xsm
sm
md
lg

สมัชชาสุขภาพฯครั้งที่ 12 ทวนมติ “เด็กกับสื่อ” เรื่องจริงที่ผู้ใหญ่ต้องคิดให้หนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในโลกยุคดิจิตอล ที่ทุกอย่างไปเชื่อมโยงอยู่กับ โซเชียลมีเดีย หรือ สังคมออนไลน์ ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ในการใช้ข้อมูลอย่างสูงสุดเท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้ามโลกโซเชียลก็นำพา โทษมหันต์ มาให้ด้วยเช่นกัน เปรียบเสมือน “ดาบสองคม” ที่พร้อมจะให้คุณ และ ให้โทษ กับผู้ใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะกลุ่ม “เยาวชน” ดังนั้น การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12 จึงเตรียมหยิบยกมติเด็กกับอีสปอร์ตเข้ามาทบทวนและติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง โดยมีการขยายมิติให้ครอบคลุมถึงการเสพย์สื่อโซเชียลในหมู่เยาวชน

“จากการสำรวจพบว่า ณ วันนี้ เด็กไทย มีการใช้มือถือมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก” ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมติเด็กกับสื่อ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เล่าถึงสถานการณ์เด็กกับสื่อ ในวันนี้ กับภาพรวมของคนไทยทั้งประเทศกับการอยู่กับการใช้โทรศัพท์อยู่ที่ อันดับที่ 3 ของโลก “เมื่อดูค่าเฉลี่ยการใช้โทรศัพท์ของเด็กทั่วโลก จะอยู่ที่ 3 ชั่วโมง ต่อวัน แต่สำหรับเด็กไทยแล้ว กลับใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มากถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งก็ตรงกับผลวิจัยในประเทศ ของหลายสำนัก เช่น สภาพพัฒน์ มูลนิธิเพื่อพัฒนาไทย หรือ สมาคมวิทยุเพื่อเด็กและเยาวชน”

การใช้เวลาอยู่กับมือถือของเด็กไทย ส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของกิจกรรมเพื่อความบันเทิง คลายเครียด ดูหนัง ฟังเพลง ซื้อสินค้า และ เล่มเกม ซึ่งประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมติเด็กกับสื่อ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เล่าอีกว่า การใช้มือถือของเด็กเพื่อสิ่งเหล่านั้น มีทั้งคุณ และโทษ “ซึ่งโทษภัยที่มากับมือถืออันดับหนึ่งเลยก็คือ เรื่องการไซเบอร์ บูลลีอิ้ง (Cyber Bullying) หรือที่เราเรียกว่า การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ขณะที่การเล่มเกม เป็นอันดับที่สอง ตามมา ซึ่งแทนที่เด็กจะใช้เวลาเหล่านั้นมาตั้งใจเรียน หรือ ไปออกกำลังกาย ก็เลยไม่ได้ทำ ส่งผลให้เกิดปัญหากับร่างกาย สายตา หรือบางครั้งก็เกิดโรคต่างๆ ตามมา อย่างโรคอ้วน รวมถึงยังส่งผลให้สมองไม่ได้ทำงานตามหน้าที่อันควรจะเป็น พอเล่มเกมหนักขึ้น สมองส่วนความคิดก็ไมได้พัฒนา”

ดร.ธีรารัตน์ เล่าอีกว่า ในส่วนของเกม ที่เด็กๆ เล่นก็เรียกได้ว่า มีโทษอยู่ไม่น้อย “เกมอาจมีความรุนแรงทั้งภาษา และพฤติกรรม ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่า การเล่นเกมนาน จะส่งผลต่อพฤติกรรมด้านอารมณ์ ที่จะรุนแรงมากขึ้นเมื่อถูกสั่งห้ามเล่น ขณะที่เกมบางเกมมีความรุนแรง ไม่เหมาะกับเด็ก แต่ในประเทศไทยก็ไม่ได้มีความพยายามในการจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังผ่านหน่วยงานของรัฐ ทำให้เด็กทุกเพศทุกวัยสามารถเล่นเกมได้โดยไม่มีการคัดกรอง หรือ จัดเรตติ้ง”

เช่นเดียวกับตัวของเด็กเอง ที่ยังไม่สามารถดูแลตัวเองไม่ได้ เพราะยังมีวุฒิภาวะน้อยมาก ดังนั้น ทำให้ความยับยั้งชั่งใจไม่มี ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เด็กเกิดปัญหาสุขภาวะ 4 ประการ คือ กาย จิต ปัญญา สังคม คือเสียสุขภาพกาย สุขภาพจิตเสื่อม สมาธิสั้น และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมก็เสียไปด้วย ซึ่งก็เป็นไปตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ที่เน้นให้ความสำคัญกับสุขภาวะทั้ง 4 ด้าน “นี่ก็เป็นที่มาของการเคลื่อนให้เกิด มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2551 คือ มติผลกระทบของสื่อต่อเด็ก ขณะที่ มติของปี 2555 คือ มติสภาพแวดล้อมปลอดภัย เด็กไทยกับไอที ส่วนปี 2561 การแสดงความรับผิดชอบร่วมกันทางสังคมเกี่ยวกับ อีสปอร์ต ต่อสุขภาวะเด็ก นี่คือเป็นที่มา ซึ่งทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกัน เพื่อหาแนวทางให้ทุกภาคส่วนได้ทำหน้าที่ลดกระทบ ลดปัญหาอันเกิดจากสภาพแวดล้อมที่เด็กอยู่ในโลกออนไลน์”

“ทั้ง 3 มติ หรือ ที่เรียกว่า มติเด็กกับสื่อ จะมี COPAT (Child Online Protection Action Thailand) หรือ ศูนย์ประสานงานในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ ที่เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นหลักในการทำงาน ร่วมกับสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) มูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ รวมถึงสถาบันทางการแพทย์ เช่น รามาธิบดี โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลับมหิดล และสถาบันบ้านเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ก็ทำงานร่วมกันมาตลอด ทั้งทำวิจัย และทำสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้เกิดกฎหมาย ซึ่งวันนี้ กำลังมีการผลักดันร่างกฎหมาย ป้องกันภัยเด็กจากภัยออนไลน์เฉพาะ จนเกิดอนุกรรมการในสังกัด คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กนยช.) ซึ่งก็ทำงานต่อเนื่องมา 2 ปี แล้ว และเกิดแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับภัยออนไลน์ และ อีสปอร์ต ออกมา ในเวลาเดียวกัน ก็ได้นำทีมร่างมติอีสปอร์ตออกมาในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก มติอีสปอร์ตที่ทำอยู่ 4 ข้อ”

เริ่มจาก (1) ให้สมาคมกีฬาอีสปอร์ต ไปทำมาตรฐาน การจัดการแข่งขัน และกิจกรรมที่เกี่ยวกับ E-Sport ที่ได้มาตรฐานสากล ตามมาด้วย (2) ให้ COPAT ทำวิจัย และจัดเวทีสาธารณะสื่อสารสังคมให้คนรู้จักกีฬา E-Sport ในทางที่ควร และถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งผลักดันให้คนเข้าใจ และขับเคลื่อนให้คนเข้าใจว่า กีฬา E-Sport คืออะไรและ(3) ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายเท่าที่มีอยู่ (กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายคุ้มครองเด็ก และกฏหมายการพนัน) สุดท้ายคือ (4) การยกร่างกฎหมายการกำกับดูแลการประกอบกิจการเกมในประเทศไทย เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ และขับเคลื่อนให้เป็นจริง

ในส่วนของการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 12 ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2562 จะมีทั้งมติขาขึ้น และ ขาเคลื่อน “มติขาขึ้น คือการนำเสนอมติใหม่ขึ้นมา ส่วนมติขาเคลื่อน คือการนำมติเก่ามาขับเคลื่อนให้เห็นผลตามที่เขียนไว้ อย่าง มติ E-Sport ที่เขียนไว้ 4 ข้อข้างต้น เราก็จะมีการรายงานในปีนี้ ถึงความคืบหน้าในมติ ซึ่งมีอยู่ถึง 9 มติ โดยมีเรื่อง E-Sport รวมอยู่ด้วย”

สำหรับประชาชาน ผู้สนใจ ที่จะเข้ามารับฟังมติ ทั้งที่เป็นมติขาขึ้น และขาเคลื่อน นั้น จะต้องเป็นสมาชิกภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยจะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมงานที่เว็บไซด์ www.samatcha.org เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ที่ต้องการเข้ารับฟัง ก็สามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ที่เว็บไซด์ดังกล่าว โดยมติทั้งหมดที่นำมารายงานในที่ประชุมนั้น จะมีการสรุปและนำเสนอ สู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น