ฮิตาชิ ชี้ AI วัดค่าความสุขมนุษย์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้ทำงานกับคนรอบข้างดีขึ้น สร้างรายได้และกำไรให้องค์กรในระยะยาว เผยอนาคตหากมีการพัฒนาร่วมกันกับหน่วยงานด้านจิตเวชอาจช่วยแก้ปัญหาโรคซึมเศร้าที่กำลังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้
นายคาซูโอะ ยาโนะ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AI and Happiness บริษัท ฮิตาชิ กล่าวว่า แม้ว่าในทางการแพทย์เราสามารถทดสอบความสุขของเราได้ด้วยการตอบแบบสอบถาม แต่จะมีสักกี่คนที่พบแพทย์และตอบแบบสอบถามดังกล่าว ขณะที่หากมีโซลูชันจับพฤติกรรมด้านความสุขในรูปแบบ AI ในการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของร่างกาย การหายใจ จังหวะการเต้นของหัวใจ และปฏิกิริยาของกล้ามเนื้อต่อความรู้สึกต่างๆ ซึ่งแต่ละคนต่างแสดงออกต่างกัน จากการตรวจจับของเซ็นเซอร์ที่อยู่ตามอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สายรัดข้อมือ หรือ ป้ายพนักงาน จะทำให้ผลของการตรวจวัดค่าความสุขได้แม่นยำ เพื่อนำผลค่าของความสุข หรือ ไม่ความทุกข์ในการทำงานนั้น มาปรับปรุงและพัฒนาให้ตนเองทำงานอย่างมีความสุขได้ เพราะเมื่อมีความสุขในการทำงาน ก็จะเกิดความเข้าใจคนรอบข้างที่ทำงานด้วย สร้างประสิทธิภาพในการทำงาน และผลกำไรให้บริษัทในระยะยาว
โซลูชัน AI and Happiness ค้นคว้าขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความเครียดให้กับพนักงาน โดยบริษัทได้ทดลองใช้ในองค์กรตั้งแต่ปี 2549 และคาดว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เร็วๆนี้ ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับองค์กรธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาล ในการนำโซลูชันมาปรับใช้กับพนักงาน ซึ่งตนเองมองว่าหน่วยงานแรกที่น่าจะนำมาใช้น่าจะเป็นหน่วยงานขาย เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย และที่สำคัญคือจะสามารถชี้วัดเรื่องผลกำไรเปรียบเทียบระหว่างการทำงานด้วยความสุขและการทำงานที่ไม่มีความสุขได้ชัดเจน
นอกจากนี้ หากโซลูชันดังกล่าว กลายเป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งในวงการแพทย์โดยเฉพาะด้านจิตเวชเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะยิ่งส่งผลดีในวงกว้าง เนื่องจากโซลูชันดังกล่าวนอกจากใช้ AI ในการวิเคราะห์ความสุขแล้ว ยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเสนอแนะวิธีการในการทำตนเองให้มีความสุขอีกด้วย
“ถ้าเรามีความสุขเราก็จะรู้จักเข้าใจคนอื่น แต่ถ้าเรามีความทุกข์เราจะเข้าใจคนอื่นยาก การมีความสุขที่ยั่งยืนสามารถสร้างได้ โดยเริ่มจากตัวเรา ต้องมีความมั่นใจในตัวเอง พร้อมที่จะรับรู้และเข้าใจปัญหา ที่สำคัญคือ ต้องมองโลกในแง่บวก”