“การเปรียบเทียบ” เป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ต้องพบเจอตลอดช่วงชีวิตของคนเรา ด้วยความจำเป็นในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมคนหมู่มาก เราจึงพยายามหาบรรทัดฐานอะไรบางอย่างมาเป็นสิ่งชี้วัดตัวตนของเราเพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความคาดหวังของสังคม แต่จะเป็นอย่างไรหากมีใครที่คอยหมกมุ่นอยู่กับการเปรียบเทียบจนไม่สามารถหาความสุขในชีวิตได้เลย
“โรคชอบเปรียบเทียบ” เป็นภาวะความทุกข์ใจที่เกิดจากการติดอยู่กับวังวนความคิดในการนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อเห็นว่าคนอื่นมีสิ่งที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปร่างหน้าตา ทรัพย์สินเงินทอง หน้าที่การงาน ผลการเรียน หรือแม้แต่รูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่งการวนเวียนอยู่กับความคิดดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดทั้งความรู้สึกอิจฉา ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ หมดกำลังใจ หรือขาดความมั่นใจในตัวเอง จนไม่เป็นอันกินอันนอน ไม่อยากจะทำอะไรและไม่อยากพบเจอกับใครอีก เป็นความผิดหวังครั้งสำคัญในชีวิตที่ไม่สามารถเป็นหรือครอบครองสิ่งดีๆได้เหมือนกับคนอื่น
ภาวะความทุกข์ใจเช่นนี้ถูกกระตุ้นให้แพร่หลายด้วยอิทธิพลของโลกแห่งการสื่อสารไร้พรมแดนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียหรือโลกเสมือนจริงที่สร้างรูปแบบความสัมพันธ์แบบฉาบฉวยได้ในทุกที่ทุกเวลา จากเดิมที่การเปรียบเทียบเกิดขึ้นในวงจำกัดเพียงกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิด แต่ทุกวันนี้ในขณะที่เรากำลังเพลิดเพลินกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจและข้อมูลใหม่ๆจากผู้คนมากมายบนโลกออนไลน์ ใครหลายคนกลับกำลังซึมซับความรู้สึกหวั่นไหวไม่มั่นคงในจิตใจที่เกิดจากการนำตัวเองไปเปรียบเทียบและแข่งขันกับสิ่งที่คนอื่นนำมาแสดงให้เห็นบนโซเชียลมีเดียโดยไม่รู้ตัว
ความรุนแรงของภาวะความทุกข์ใจจากการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในโลกโซเชียลนั้นโดยมากขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันทางจิตใจของแต่ละคนเป็นสำคัญ บางคนสามารถแปรเปลี่ยนความแตกต่างเป็นแรงผลักดัน แต่หลายคนยิ่งใช้โซเชียลมีเดียมากเท่าไรกลับยิ่งต้องทนทุกข์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ พาความคิดดำดิ่งอยู่กับความไม่พอใจในตัวเอง คิดมาก คิดซ้ำไปซ้ำมาจนเกิดความวิตกกังวลและความเครียดสะสม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้า เปลี่ยนตัวเองเป็นคนมองโลกแง่ร้าย ตัดสินตัวเองเป็นคนไร้ค่า รู้สึกสิ้นหวังในชีวิตและหมดกำลังใจที่จะใช้ชีวิตได้ตามปกติ
เพื่อไม่ให้เผลอตัวเข้าสู่วังวนของความทุกข์ใจจากโรคเปรียบเทียบตัวเองในโลกโซเชียล ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องตรวจสอบการใช้งานโซเชียลมีเดียของตัวเองอยู่เสมอด้วยการสังเกตพฤติกรรมของตนเองว่าหากเรามีพฤติกรรมต่อไปนี้ นั่นอาจหมายถึงเราอยู่ในภาวะการเป็นโรคชอบเปรียบเทียบ ดังนี้
1.ติดนิสัยใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสอดส่องความเป็นไปของคนอื่นตลอดเวลาจะด้วยความอยากรู้อยากเห็นหรือมีเหตุผลอะไรก็ตามที หากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับการเฝ้าจับตามองดูหน้าจอสมาร์ทโฟนเพื่อไม่ให้พลาดการอัพเดททุกเรื่องราวที่คนอื่นนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเดินทางไปที่ไหน รับประทานอะไร หรือซื้อสินค้าอะไรมาใช้บ้าง
2.เกิดความรู้สึกทางลบต่อสิ่งต่างๆที่พบเห็นในโซเชียลมีเดีย หากเกิดความรู้สึกอิจฉา โกรธและไม่พอใจที่เห็นความสำเร็จหรือมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นกับคนอื่น หรือพยายามคิดเข้าข้างตัวเองว่าใครๆก็เป็นอย่างนั้นได้แต่ในใจกลับรู้สึกร้อนรน ไม่มีความสุข มากกว่าความรู้สึกในทางบวกที่จะเกิดเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นแล้ว นี่คงไม่ใช่สัญญาณที่ดีสักเท่าไร
3.รู้สึกถึงการยอมรับสภาพว่าตัวเราคงไม่สามารถทำได้หรือมีได้เหมือนคนอื่น หากเรื่องราวในโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ทำให้เรามักรู้สึกถึงการยอมรับสภาพว่าตัวเราคงไม่สามารถทำได้หรืออาจทำแล้วได้ผลที่ไม่ดีอย่างคนอื่น การใช้งานโซเชียลมีเดียเพื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นจึงเท่ากับเป็นการลดทอนคุณค่าและความมั่นใจในตัวเองที่มีอย่างจำกัดอยู่แล้วให้ลดน้อยลงไปอีก กลายเป็นเครื่องมือที่ตอกย้ำความคิด ความรู้สึกในทางลบที่มีต่อตัวเองและสร้างความทุกข์ใจจนยากที่จะเยียวยา
4.เกิดความรู้สึกอยากได้หรืออยากทำตามเหมือนกับคนอื่น เมื่อสิ่งที่เราเห็นในโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากได้หรืออยากทำตามเหมือนกับคนอื่น โดยยากที่จะหักห้ามใจไม่ให้เก็บเอาไปคิดถึงอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่สิ่งนั้นหรือเรื่องราวนั้นไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมและมีความจำเป็นสำหรับตัวเรา หรืออาจยังไม่สามารถซื้อหามาไว้เป็นของตัวเองได้ในเวลานี้ จนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ทำเรื่องที่ผิด หรือทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน
5.เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปด้วยการพยายามเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นในโลกออนไลน์ รู้สึกดีที่ได้นำเสนอเรื่องราวที่ทำให้ตัวเองดูดี ได้รับการยอมรับและคำชื่นชมจากคนอื่น ต้องการอยู่เหนือกว่าใครในโลกออนไลน์ แต่ความรู้สึกจะพลิกไปในทางตรงกันข้ามทันทีที่การนำเสนอของตัวเองไม่ได้รับความสนใจหรือไม่มีการตอบสนองไปในทางที่คาดหวัง จนเกิดมุมมองและการแสดงออกที่ไม่ดีกับคนอื่น
การเข้ามาของโลกโซเชียลได้สร้างผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อการใช้ชีวิตในหลายๆด้าน และการเปรียบเทียบในโลกโซเชียลอาจนำพาความทุกข์ใจมาให้เราได้ เราจึงควรตรวจสอบความสมดุลในการใช้ชีวิตอยู่เสมอ โดยการจัดการชีวิตอย่างเหมาะสมทั้งในโลกความเป็นจริงและในโลกออนไลน์ เนื่องจากการพบปะและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในการดำเนินชีวิตยังคงมีความสำคัญต่อการพัฒนาตัวเองในฐานะสมาชิกของสังคม จึงจำเป็นต้องให้น้ำหนักความสำคัญและเวลามากกว่าการหมกมุ่นติดตามสิ่งต่างๆในโลกเสมือนจนออกห่างจากโลกที่จับต้องได้ไปทุกขณะ และจะเป็นเรื่องที่ดีมากหากเราเข้าใจความแตกต่าง ยอมรับและพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี แล้วเปลี่ยนความแตกต่างนั้นเป็นพลังในการผลักดันตัวเองให้ดีขึ้นในทุกๆวัน เราก็จะไม่รู้สึกทุกข์ใจเพราะเราจะไม่อยากเปรียบเทียบกับใครอีก