กทม.เตรียมประชุม 31 ม.ค. เคาะหามาตรการควบคุมฝุ่น 4 ด้าน หากค่าฝุ่นวิกฤตเกิน 51 มคก./ลบ.ม. ทั้งคุมรถ โรงงาน การเผา การก่อสร้าง หากค่าเกิน 100 มคก./ลบ.ม.เป็นหน้าที่รัฐบาล กรมอุตุฯ เผย 28 ม.ค.-3 ก.พ. อากาศดีขึ้นอีก
วันนี้ (27 ม.ค.) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงข่าวภายหลังประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ใน กทม. ว่า การทำงานจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ค่าฝุ่น PM 2.5 ต่ำกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เป็นสถานการณ์ปกติ แผนการปฏิบัติ คือ ทุกหน่วยงานทำตามแผนแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาว แต่ถ้าเป็นวิกฤต คือ 51-100 มคก./ลบ.ม. คือ ระยะที่ 2 ค่าฝุ่น 51-71 มคก./ลบ.ม. และระยะที่ 3 ค่าฝุ่น 76-100 มคก./ลบ.ม. ผู้ว่าราชการ กทม.จะเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์และทำแผนเผชิญเหตุ และออกมาตรการว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยจะมีการประชุมอีกครั้งภายในวัน 31 ม.ค.นี้ เพราะขณะนี้แต่ละหน่วยงานต้องไปทำแผนเสนอมา อย่าง กทม.จะมีมาตรการไหนที่เราทำได้ เพราะที่ผ่านมามักจะเป็นมาตรการระดับประเทศ ซึ่งแผนตัวนี้เราจะประกาศในวันที่ 31 ม.ค.นี้ โดยจะระบุว่าหากเป็นระยะที่ 2 เราจะทำอะไร ระยะที่ 3 จะทำอะไร ส่วนระยะที่ 4 ค่าฝุ่น 100 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดย นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้สั่งการ
"การให้หน่วยงานแต่ละแห่งทำแผนจะแบ่งเป็น 6 หัวข้อ 4 แผนการควบคุม คือ 1. ควบคุมรถยนต์ 2. ควบคุมโรงงาน 3. ควบคุมการเผาไหม้ และ 4.ควบคุมการก่อสร้าง ว่าหากเกิดวิกฤตคือระยะที่ 2 และ 3 ต้องทำอย่างไรบ้าง ส่วนเรื่องของโรงเรียนต้องมีการปิดเมื่อถึงขั้นไหน จทำแผนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รวมถึงการแจกหน้ากากอนามัย และรณรงค์ให้ประชาชนดูแลป้องกันตัวเอง" ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า วันที่ 28 ม.ค. - 3 ก.พ. จะมีคลื่นอากาศในกระแสลมตะวันตกที่มาจากทางหิมาลัยหรือตอนเหนือจะแผ่มาแรงมาก เรียกว่าเป็นลมร้อน แผ่เข้าไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ส่งผลให้มีความชื้นและฝนตก และจะมีมวลอาการเย็นจากจีนแผ่ลงมา ทำให้ภาคอีสานและภาคเหนืออุณหภูมิลดลงอีก ลมเย็นอยู่ด้านใต้ก็จะดันลมร้อนขึ้น ทำให้ดึงฝุ่นละอองที่นิ่งให้ลอยตัวขึ้น ทำให้ค่าฝุ่นดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าฝุ่นละอองจะหายไปอย่างต่อเนื่อง ต้องมีมาตรการต่างๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ฝุ่นละอองในพื้นที่ลดลง
พ.ต.อ.เกียรติพงษ์ นาวา รองผู้บังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า บช.น.โดย บก.จร.ได้ดำเนินการป้องกันฝุ่นPM2.5. โดยร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมการขนส่งทางบก และกทม. ตั้งด่านตรวจจับควันดำ จำนวน 33 จุด สลับหมุนเวียนกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยสถิติการตรวจจับรถที่มีควันดำตั้งแต่ปี 2562 สามารถตรวจจับรถที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานได้รวม 140,000 ราย ส่วนในปี 2563 เฉพาะเดือน ม.ค. สามารถตรวจจับได้แล้วกว่า 1 หมื่นราย
นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 ที่คนมองว่าภาครัฐโกงหรือไม่ เพราะไม่ตรงกันภาครัฐรายงานต่ำ แต่พอไปเช็กดูเองค่ากลับสูงเป็นร้อย ต้องชี้แจงว่า มีค่า 2 ตัว คือ ค่าความเข้มข้นฝุ่นละอองจะมีหน่วย มคก./ลบ.ม. และค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ซึ่งค่านี้จะไม่มีหน่วย ค่านี้มาจากค่าวัดความเข้มข้นของมลพิษหลายๆ ตัว ดังนั้น ค่าฝุ่น 50 มคก./ลบ.ม. จึงเทียบเท่ากับค่า AQI ประมาณ 100 การรายงานหรือดูค่าต้องดูให้ชัดว่าเป็นค่าอะไร