กทม.สั่งโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง เปิดเรียนตามปกติวันที่ 23 ม.ค. หลังแนวโน้มฝุ่นลดลงหลายพื้นที่ แต่ยังประเมินสถานการณ์ฝุ่นติดตามทุกวัน มั่นใจมาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน ช่วยลดปริมาณรถบนถนนช่วงเร่งด่วนได้ ด้าน บช.น.จับรถควันดำได้กว่า 7 พันคัน ส่วนใหญ่รถบรรทุก กระบะแต่งซิ่ง
วันนี้ (22 ม.ค.) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รอง ผบช.น. แถลงข่าวภายหลังการประชุมแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย พล.ต.ต.ไพศาล กล่าวว่า การกวดขันจับกุมรถที่ปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐานหรือปล่อยควันดำ ซึ่งในปี 2562 สามารถจับรถควันดำได้ 140,000 คัน มากกว่าปี 2561 ร้อยละ 6 ขณะที่ปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 3-21 ม.ค. จับรถควันดำได้ 7,400 กว่าคัน เฉพาะเมื่อวันที่ 21 ม.ค. จับได้ 605 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกและมีรถกระบะแต่งซิ่งบ้าง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้มีการตั้งด่านจับตรวจรถควันดำในช่วงเวลากลางวัน วันละ 4 รอบ และได้มีการติดสติกเกอร์รถที่มีการปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐาน 45% เพื่อให้นำรถกลับไปปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ บช.น.ได้ร่วมกับกทม.แก้ปัญหาการจราจรบริเวณโครงการการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยขยับแบริเออร์กั้นพื้นที่ก่อสร้าง คืนผิวการจราจรให้มากขึ้น เพื่อให้รถสามารถสัญจรได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ลดความหนาแน่นบนท้องถนน และลดการสะสมของฝุ่นที่เกิดจากการเร่งเครื่อง จอดรถนานๆ พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือกับประชาชน งดจอดรถบริเวณริมถนน ซึ่งทำให้รถติดสะสม
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 วันที่ 22 ม.ค. ถือว่าดีขึ้น จากบริเวณที่มีค่าฝุ่นเป็นเหลือง-สีส้ม หรือพื้นที่คุณภาพอากาศปานกลาง-เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพนั้น เริ่มมีพื้นที่เขียว หรือ คุณภาพอากาศดีเพิ่มขึ้น 12 จุด ส่วนคุณภาพอากาศระดับเหลือง-สีส้มยังคงมี 25 จุด ทั้งนี้ จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าภายใน 1-2 วัน แนวโน้มทิศทางลมจะเริ่มแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อากาศเริ่มดีขึ้นด้วย แต่ฝุ่นยังไม่หมดไป คาดว่าใน ก.พ.ปัญหาฝุ่นยังคงมีอยู่ ส่วนโรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่งนั้น ในวันที่ 23 ม.ค. จะเปิดเรียนตามปกติ เพราะไม่อยากให้ส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็กๆ กว่า 280,000 คน โดยเฉพาะช่วงใกล้สอบ O-NET หากหยุดเรียนบ่อยอาจมีผลกระทบ ส่วนมาตรการเหลื่อมเวลาทำงานของบุคลากร กทม. ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานบริการประชาชน จากเวลา 08.00 - 16.00 น. เป็นเวลา 10.00 - 18.00 น. เพื่อลดปริมาณการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน ช่วยลดการปล่อยมลพิษช่วงเร่งเครื่องยนต์ แตะเบรก ยังคงดำเนินการจนกว่าปัญหาฝุ่นจะคลี่คลาย อย่างน้อยมาตรการนี้สามารถลดปริมาณรถบนถนนในช่วงเวลาเร่งด่วนได้ประมาณ 20,000 คัน อย่างไรก็ตาม กทม.จะติดตาม และประเมินสถานการณ์ฝุ่นทุกวัน เพื่อวางมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง นอกจากนี้ จะมีการพิจาณณาจัดหาเครื่องฟอกอากาศ เพื่อติดตั้งตามโรงเรียนสังกัดกทม. จัดโซนนิ่งสำหรับดูแลเด็กนักเรียน
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า ส่วนการแจกหน้ากากอนามัย ตามสถานีรถไฟฟ้า หรือศูนย์อนามัย มีการตอบรับที่ดี ประชาชนให้ความร่วมมือในการสวมใส่หน้ากากมากขึ้น สำหรับการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่งละอองในอากาศ กทม.จะเปลี่ยนจากการพ่นน้ำไปที่อากาศ เป็นพ่นน้ำไปที่ต้นไม้แทน เพื่อให้ต้นไม้สามารถดักจับฝุ่นได้เพิ่มขึ้น เพราะนอกจากต้นไม้จะดักจับฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังดักจับฝุ่น PM 10 และควันรถ ซึ่งการฉีดพ่นไปที่ต้นไม้นั้น เป็นคนละส่วนกับการฉีดน้ำที่พื้น เพราะการฉีดน้ำที่พื้นนั้นเป็นการฉีดไล่ฝุ่นให้ลงท่อระบายน้ำ